เมืองน่านในอดีต

เมืองน่านในอดีตเป็นรัฐเล็ก ๆ ก่อตัวขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่านและแม่น้ำปัว ทางตะวันออกของภาคเหนือ แบ่งเป็นยุคประวัติศาสตร์ได้ดังนี้

กำแพงเมืองน่านในสมัยรัชกาลที่ 5

                                                                     
ประวัติศาสตร์เมืองน่าน
เริ่มปรากฏขึ้นราว พ.ศ. 1825 ภายใต้การนำของพญาภูคา เจ้าเมืองย่าง ศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง (เชื่อกันว่าคือบริเวณริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่าง ใกล้เทือกเขาดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา) เพราะปรากฏร่องรอย ชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำ คันดิน กำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ ต่อมาพญาภูคา ได้ขยายอาณาเขตปกครองของตนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งราชบุตรบุญธรรม 2 คน ไปสร้างเมืองใหม่ โดยขุนนุ่น ผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (เมืองหลวงพระบาง) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำของ (แม่น้ำโขง) และขุนฟองผู้น้องสร้างเมืองวรนคร(เมืองปัว) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ การที่ให้ชื่อว่าเมือง “วรนคร” ก็เนื่องมาจาก พญาภูคา ได้เลือกชัยภูมิที่ดี เหมาะสมในการสร้างเมือง เสร็จแล้วจึงขนานนามว่าเมือง “วรนคร” ซึ่งหมายถึง เมืองดี นับว่าเป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ภูคา

เมื่อบ้านเมืองวรนครเริ่มมั่นคงเป็นปึกแผ่น เจ้าขุนฟองก็ได้เป็นพญาแล้วเสวยราชสมบัติในเมืองวรนคร ทรงมีพระโอรส 1 พระองค์ ใส่ชื่อเบิกบายว่า “เจ้าเก้าเกื่อน” ต่อมาไม่นานักพญาขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองปัวแทน ด้านพญาภูคาครองเมืองย่างมานานและมีอายุมากขึ้น มีความประสงค์จะให้เจ้าเก้าเถื่อนผู้หลานมาครองภูคาหรือเมืองย่างแทน จึงให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญ แต่เจ้าเก้าเกื่อนไม่ค่อยเต็มใจนัก เจ้าเก้าเถื่อนเกรงใจปู่จึงยอมไปอยู่เมืองย่าง และมอบให้ชายาคือนางพญาแม่ท้าวคำปิน ซึ่งทรงครรภ์อยู่คอยปกครองดูแลรักษาเมืองวรนคร(เมืองปัว) แทน เมื่อพญาภูคาถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนจึงครองเมืองย่างแทน

ในช่วงที่เมืองวรนคร (เมืองปัว) ว่างจากผู้นำ เนื่องจากเจ้าเก้าเถื่อนไปครองเมืองย่างแทนปู่คือพญาภูคา พญางำเมืองเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา จึงได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองบ้านเมืองปัวทั้งหมด นางพญาแม่เท้าคำปินพร้อมด้วยบุตรในครรภ์ ได้หลบหนีไปอยู่บ้านห้วยแร้ง จนคลอดได้บุตรชายท่ามกลางท้องไร่นั้น ชื่อว่า “เจ้าขุนใส” ปรากฎว่านายบ้านห้วยแร้งนั้น เป็นพ่อครัวพญาเก้าเกื่อนมาก่อน จึงรับนางพญาแม่ท้าวคำปินและกุมารไปเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ อายุได้ 16 ปี ก็นำไปไหว้สาพญางำเมือง เมื่อพญางำเมืองเห็น ก็มีใจรักเอ็นดูรับเลี้ยงดูไว้ แลเติบใหญ่ได้เป็นขุนนาง รับใช้พญาคำเมืองจนเป็นที่โปรดปราน พญางำเมืองจึงสถาปนาให้เป็น เจ้าขุนใสยศ ครองเมือง เป็นเจ้าเมืองปราดภาย หลังมีกำลังพลมากขึ้นจึงยกทัพมาต่อสู้จนหลุดพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา แล้วกลับมาเป็นพญาเสวยเมืองวรนคร (เมืองปัว) และได้รับการสถาปนาเป็น “พญาผานอง” เมืองวรนคร จึงกลายชื่อมาเป็นเมืองปัว ซึ่งหันไปมีความสัมพันธ์กับกรุงสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ดังปรากฎชื่อเมืองปัวอยู่ในหลักศิลาจารึก หลักที่ 1

คุ้มหลวงเจ้าเมืองน่าน (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานน่าน)

ความสัมพันธ์ด้านอารยธรรมระหว่างเมืองน่านกับกรุงสุโขทัย     
พญาผานองเสวยเมืองปัวอยู่ได้ 30 ปี มีโอรส 6 คน คนแรกชื่อเจ้าการเมือง คนสุดท้องชื่อ เจ้าใส พอพญาผานองถึงแก่พิราลัยไปแล้ว เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็อภิเษกให้เจ้าใสผู้น้องเสวยเมืองแทน เพราะเป็นผู้มีความรู้เฉลียวฉลาด แต่อยู่ได้ 3 ปี ก็ถึงแก่พิราลัย ไปอีก เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจึงเชิญเจ้าการเมืองขึ้นเสวยเมืองแทน

ในสมัยของพญาการเมือง (กรานเมือง) โอรสของพญาผานอง เมืองปัว ได้มีการขยายตัวมากขึ้น ตลอดจนมีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยอย่างใกล้ชิด พงศาวดารเมืองน่านกล่าวถึงพญาการเมืองว่า ได้รับเชิญจากเจ้าเมืองสุโขทัย (พระมหาธรรมราชาลิไท) ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย (วัดอัมพวนาราม) ขากลับเจ้าเมืองสุโขทัย ได้พระราชทานพระธาตุ 7 องค์ พระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ ให้กับพญาการเมืองมาบูชา ณ เมืองปัวด้วย

วัดภูมินทร์จังหวัดน่าน ในอดีต

สร้างเวียงภูเพียงแช่แห้ง
ครั้งนั้น พญาการเมือง ได้ปรึกษาพระมหาเถรธรรมบาลและได้เลือกสถานที่ บรรจุพระบรมธาตุ จึงได้ก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่บนภูเพียงแช่แห้ง ด้วยความเชื่อว่าเป็นที่เคยบรรจุพระบรมธาตุมาแต่ปางก่อน ดอยภูเพียงแช่แห้งเป็นเนินไม่สูงนัก ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเตี๋ยนกับน้ำลิง ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำน่าน จึงได้ระดมผู้คนก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่เนินแล้วอัญเชิญพระบรมธาตุมาบรจุไว้ พร้อมทั้งได้อพยพผู้คนจากเมืองปัว ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง เรียกว่า “เวียงภูเพียงแช่แห้ง” เมือปี พ.ศ. 1902 โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางเมือง 

พระธาตุแช่แห้ง

เวียงใต้
พญาการเมืองครองเมืองภูเพียงแช่แห้งได้นานถึง 5 ปี ก็ถึงแก่พิราลัย หลังจากพญาการเมืองถึงแก่พิราลัย โอรสคือ พญาผากอง ขึ้นครองแทน ต่อมาอีก 6 ปี พญาผากอง ตระหนักได้ถึงปัญหาน้ำไม่พอใช้ เพราะเวียงแช่แห้งอยู่บนเนินสูงและลำน้ำลิงที่แหล่งน้ำสำคัญนั้น มีขนาดเล็ก น้ำแห้งขอดในฤดูแล้งไม่พอกับพลเมืองที่เพิ่มขึ้น เกิดปัญหาความแห้งแล้ง จึงย้ายเมืองมาสร้างใหม่ที่ริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตกบริเวณ บ้านห้วยไคร้ (ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของจังหวัดน่านในปัจจุบัน) เรียกว่า “เวียงน่าน” ซึ่งเมื่อมีการอพยพหนีน้ำท่วมไปเวียงเหนือจึงเรียกอีกชื่อว่า “เวียงใต้”

ในปี พ.ศ. 1911 พญาผากอง ครองเมืองน่านนี้อยู่ได้ 21 ปี ก็ถึงแก่พิราลัย และได้มีรัชทายาทครองเมืองน่านมาอีก 1 องค์ คือ เจ้าคำตัน และครองเมืองน่านได้ 11 ปี ก็ถึงแก่พิราลัีย เจ้าศรีจันตะได้ครองเมืองน่านแทน พระยาแพร่ 2 องค์ ก็ยกทัพมาตีเมืองน่าน และครองเมืองน่านอยู่ได้ชั่วเวลาอันสั้น ราชวงศ์เมืองน่านก็ตีกลับคืนมาได้ ในสมัยเจ้าปู่เข่ง 

ในสมัยเจ้าปู่เข่งครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1950 – 1960 ก็ได้สร้างวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร, วัดพระธาตุเขาน้อย, วัดพญาภู แต่สร้างไม่ทันเสร็จก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อนพญางั่วฬารผาสุม ผู้เป็นหลานได้สร้างต่อจนแล้วเสร็จและได้สร้าง พระพุทธรูปทองคำปางลีลา ปัจจุบันคือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

เมืองน่านเข้ารวมอยู่ในอาณาจักรล้านนาไทย
ต่อมาอีกไม่นาน แม้เมืองน่านซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ รักษาตัวอยู่รอดมาได้ตลอดสมัยสุโขทัย จนกระทั่งถึงสมัยอยุธยา แต่ทางอาณาจักรล้านนาไทย (เชียงใหม่) ก็มีกษัตริย์ที่ทรงอานุภาพเกิดขึ้น นั่นคือ พระเจ้าติโลกราช และในปี พ.ศ. 1993 พระเจ้าติโลกราช มีความประสงค์จะครอบครองเมืองน่านและแหล่งเกลือ
บ่อเกลือสินเธาว์ ของเมืองน่าน (ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ) ที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์และหาได้ยากทางภาคเหนือ เพื่อจะได้ส่งส่วยค้ำจุนเมืองปิงเชียงใหม่ จึงได้จัดกองทัพผ่านมาทางเมืองลอ เมืองปง เมืองควัน ดอยวาว เข้าตีและยึดเมืองน่าน พญาอินต๊ะแก่นท้าว ไม่อาจต้านทาน จึงได้จึงอพยพหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) ด้วยเหตุนี้ ทำให้พระเจ้าติโลกราชยกกองทัพลงมาตีเมืองชากังราว และจะเลยไปตีสุโขทัย แต่ก็ตีไม่ได้ จึงเลิกทัพกลับไป 

เมืองน่านจึงถูกผนวกเข้าไว้ในอาณาจักรล้านนา แต่ก็ยังมีเจ้าผู้ครองนครน่านเป็นราชวงศ์ภูคาอยู่จนถึง พญาผาแสงถึงแก่พิราลัย ฐานะเมืองน่านก็เปลี่ยนเป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านนา ตั้งแต่นั้นมาตลอดระยะเวลาเกือบ 100 ปี เมืองน่านอยู่ในครอบครองของ อาณาจักรล้านนา ได้ค่อย ๆ ซึมชับเอาศิลปวัฒนธรรมของล้านนามาไว้ในวิถีชีวิต โดยเฉพาะการรับเอาศิลปกรรมทางด้านศาสนา ปรากฏศิลปกรรมแบบล้านนาเข้ามาแทนที่ศิลปกรรมแบบสุโขทัย อย่างชัดเจน ดังเช่น เจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง เจดีย์วัดสวนตาล เจดีย์วัดพระธาตุช้างค้ำ แม้จะเหลือส่วนฐานที่มีช้างล้อมรอบ ซึ่งเป็นลักษณะศิลปะแบบสุโขทัยอยู่ แต่ส่วนองค์เจดีย์ขึ้นไปถึงส่วนยอดเปลี่ยนเป็นศิลปกรรมแบบล้านนาไปจนหมดสิ้น

จนกระทั่งมาสมัย ท้าวขาก่าน เจ้าเมืองน่านองค์ที่ 18 ครองเมืองน่าน ระหว่างปี พ.ศ. 2019-2023 ได้บูรณะพระธาตุแช่แห้ง จากสภาพรกร้างเป็นจอมปลสกอยุ่ในป่าไผ่ โดยการก่อสร้างเป็นเจดีย์ครอบองค์พระธาตุเดิมให้สูงขึ้นอีก 6 วา นอกจากนั้น ยังได้ปราบญวนที่ยกมาตีเมืองน่านได้ราบคาบ ชาวเมืองน่านดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุข

ตลาดเช้าเมืองน่านในอดีต

เมืองน่านขึ้นพม่า
พ.ศ.2101 เจ้าฟ้าหงสามังตรา (บุเรงนอง) ได้ยึดเมืองเชียงใหม่เป็นประเทศราช พญาพลเทพฤชัยหนีไปเมืองล้านช้าง นับตั้งแต่นั้นมา เมืองน่านต้องขี้นตรงต่อการปกครองของพม่าที่เมืองเชียงใหม่ เป็นระยะเวลาร่วม 200 ปีเศษในระหว่างปี พ.ศ. 2103 – 2328 

พญาหน่อคำเสถียรชัยสงคราม ครองเมืองน่านระหว่าง พ.ศ. 2103-2134 ไดู้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุแช่แห้ง ร่วมกับเจ้าฟ้าสาระวดี พญาเชียงใหม่ (มังนรธาช่อ-โอรสบุเรงนอง)

เจ้าเจตบุตรพรหมินทร์ โอรสพญาหน่อคำ ครองเมืองน่าน พ.ศ. 2134-2146 สร้างวัดดอนแท่านที่เมืองป้อ (อำเภอเวียงสา) และสร้างวัดพรหมินทร์ ได้พยายามแข็งเมืองกับพม่า (ตรงกับสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกจับไปประหารชีวิตที่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2146

เจ้าอุ่นเมือง ครองเมืองน่าน พ.ศ. 2158-2168 และเมื่อ พ.ศ. 2167 พระเจ้าสุทโธธรรมราชยกทัพมาตีเมืองน่าน ชาวเมืองน่านจำนวนมากถูกกวาดต้อนไปไว้ที่เมืองหงสาวดี

สะพานกรุงศรี (ก่อนปรับปรุงทาสีใหม่)

เมืองน่านคราวเป็นจลาจล 

พระยาหลวงเมืองนคร (เจ้าเมืองลำปาง) ยกกำลังจากลำปางมาชิงเมืองน่าน 

เจ้าพญาแหลมมุม (พ.ศ.2192-2205) ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยายกทัพมาตีเมืองน่าน และจับตัวไป พระเมืองราชา (พ.ศ. 2232-2246) สมคบกับลาวแสนแก้ว แข็งเมืองกับพม่า พระเจ้ากรุงอังวะรู้ข่าวจึงยกทัพมาปราบปราม เมืองน่านถูกเผาทำลายเสียหายหนัก ผู้คนหลบหนีหลบซ่อนตามป่าเขา เมืองน่านถูกทิ้งร้างไปนานร่วม 5 ปี เจ้าเมืองอังวะแต่งตั้งให้พญานาซ้ายรักษาเมือง เพื่อรวบรวมไพร่พลเมืองน่านที่หลบซ่อนอยู่ในป่า ให้ออกมาร่วมสร้างเมืองขึ้นใหม่ เจ้าฟ้าเมืองคอง (เงี้ยว) ครองเมืองน่านร่วมกับพญานาซ้าย (พ.ศ.2251-2257) รวบรวม ผู้คนสร้างเมืองน่านให้เป็นปึกแผ่นและมิให้ก่อการกระด้างกระเดื่อง เจ้าฟ้าเมียวซา (พม่า) ครองเมืองน่านร่วมกับพญานาซ้าย (พ.ศ. 2257-2259) บูรณะซ่อมแซมองค์พระธาตุแช่แห้ง พร้อมทั้งยกฉัตร 7 ชั้น

พระธาตุแช่แห้ง
โรงแรมน่านฟ้า สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2476

สกุลเจ้าพญาหลวงติ๋น ต้นวงศ์เจ้านครเมืองน่าน
เมื่อพระนาขวาดูแลเมืองน่านร่วม 11 ปี ก็ได้ไปทูลพระเจ้ากรุงอังวะเพื่อขอเจ้าพระยาติ๋นหลวงเมืองเชียงใหม่ มาเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน เจ้าพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ครองเมืองน่านระหว่าง พ.ศ. 2269-2294 เป็นลำดัีบที่ 51 นับเป็นบรรพบุรุษสกุล “ณ น่าน” ปัจจุบันเมืองน่านรวมอยู่ในราชอาณาจักรสยาม ในช่วง พ.ศ. 2297-2327 หัวเมืองล้านนาต่างๆ พยายามแข็งข้อต่อพม มีการสู้้รบกันตลอดมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สามารถโจมตีขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่เป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2317 แต่เมืองน่านยังตกอยู่ในฝ่ายพม่า เจ้าน้อยวิฑูร เจ้าเมืองน่านถูกจับและถูกคุมตัวส่งไปยังกรุงธนบุรี (พ.ศ.2321) เมืองน่านจึงขาดผู้นำ พม่าได้ยกทัพกวาดต้อนผู้คนไปอยู่ที่เชียงแสน ทำให้เมืองน่านถูกทิ้งร้างว่างเปล่า จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแต่งตั้งให้เจ้ามงคลวรยศ หลานเจ้าพญาหลวงติ๋น มาปกครองเมืองน่านที่รกร้างว่างเปล่า และในปีพ.ศ. 2328 กองกำลังพื้นเมืองล้านนาโดยการสนับสนุนของกองทัพไทย ขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ น่านจึงรวมเข้าอยู่ในอาณาจักรสยาม และเจ้ามงคลวรยศได้ยกเมืองน่านให้เจ้าฟ้าอัตวรปัญโญปกครองสืบไป

เรือนแถวไม้ในตัวเมืองน่านครั้งอดีต

เมืองน่านขึ้นกับกรุงรัตนโกสินทร์
ในปี พ.ศ. 2331 เจ้าอัตถวรปัญโญ ได้ลงมาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เพื่อขอเป็นข้าขอบขันฑสีมา เจ้าอัตถวรปัญโญ หลังจากขึ้นครองเมืองน่าน ยังมิได้เข้าไปอยู่เมืองน่านเสียทีเดียว เนื่องจากเมืองน่านยังรกร้างอยู่ ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ คือ บ้านตึ๊ดบุญเรือง เมืองงั้ว (บริเวณอำเภอนาน้อย) เมืองพ้อ (บริเวณอำเภอเวียงสา) หลังจากได้บูรณะซ่อมแซมเมืองน่านแล้ว พร้อมทั้งได้ขอพระบรมราชานุญาตกลับเข้ามาอยู่ในเมืองน่าน และรัชกาลที่ 1 จึงทรงพระกรุณาโปรดเก้าฯ ให้เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เป็นเจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน และแต่งตั้งเจ้าสุมนเทวราชขึ้นเป็นเจ้าพระยาหอหน้าฯ ในปี พ.ศ. 2344 เมืองน่านจึงมีฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นมา เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ มีความสามารถในการปกครองและบริหารบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดปรานและรักใคร่ดังลูกหลาน 

  • นำกำลังทัพร่วมกับเมืองเชียงใหม่และลำปาง ตีเมืองเชียงแสน ยึดคืนจากพม่าได้
  • นำเมืองสิบสองปันนา เชียงรุ้ง มาสวามิภักดิ์
  • ถวายพระเกศาธาตุเจ้า
  • บูรณะปฏิสังขรณ์และพุทธาภิเษกเฉลิมฉลอง วัดพระธาตุแช่แห้งครั้งใหญ่
  • สร้างกำแพงและบูรณะเวียงเก่าน่านขึ้นใหม่
  • บูรณะสร้างเวียงป้อ (เวียงสา) ขึ้นมาใหม่
  • สร้างฝาย กั้นแม่น้ำสา
  • สร้างวัดบุญยืนที่เวียงสา

ถึงแม้เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงรัตนโกสินทร์ และเจ้าผู้ครองนครมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองพลเมือง แม้ว่าการขึ้นครองนครจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรุงรัตนโกสินทร์ก็ตาม แต่โดยทางปฏิบัติแล้ว พระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองน่าน เลือกตัวเจ้านายผู้มีอาวุโสเป็นเจ้าผู้ครองนครกันเอง มิได้ทรงยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายใน
เจ้าผู้ครองนครเมืองน่านในชั้นหลังทุกพระองค์ ต่างปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเที่ยงธรรม มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ได้ช่วยราชการบ้านเมืองสำัคัญๆ หลายครั้งหลายคราวด้วยกัน เช่น ช่วยราชการสงครามเมืองเชียงแสนในรัชกาลที่ 1 ปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์ในรัชการที่ 3 ช่วยราชการสงครามเมืองเชียงตุง ในรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ ทำนุบำรุงกิจการพระพุทธศาสนาในเมืองน่าน ซ่อมแซมวัดวาอารามต่างๆ อยู่เป็นนิจ ทำให้เมืองน่านกลับคืนสู่สันติสุข ร่มเย็น ต่างจากระยะแรกๆ ที่ผ่านมา

แนวกำแพงเมืองน่านในอดีตและปัจจุบันที่ยังหลงเหลืออยู่เพียงบางส่วน

เวียงเหนือ
ในปี พ.ศ. 2360 (ในรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ น้ำในแม่น้ำน่านไหลเข้าสู่ตัวเมืองน่านด้วยความแรงและเชี่ยว ได้พัดพากำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกพังทลายลงทั้งแถบ บ้านเรือนพังทลายเกือบหมด วัดวาอารามในนครน่านหักพังเป็นอันมาก พ.ศ. 2362 พญาสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่าน จึงได้ย้ายเมืองไปอยู่บริเวณดงพระเนตรช้าง ซึ่งเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเดิม ใช้เวลาสร้าง 6 เดือน จึงแล้วเสร็จ เรียกว่า “เวียงเหนือ” (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านมหาโพธิ์ และบ้านสถารส อ.เืมือง) ห่างจากเวียงใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร 

เวียงเหนือ ทอดไปตามลำน้ำน่าน ห่างจากแม่น้ำน่านประมาณ 800 เมตร มีคูเมืองล้อมรอบ ซึ่งปัจจุบัน ยังพบร่องรอยคูน้ำคันดินเวียงเหนือ สันนิษฐานว่า ครั้งที่ย้ายเมืองนั้น มีวัดสถารสเป็นวัดหลวงของเขตเวียงเหนือในปัจจุบัน คือ ถนนหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน
ด้านเหนือ จดบ้านหัวเวียงเหนือ
ด้านใต้ จดทุ่งนาริน
ด้านตะวันออก ยาวไปตามถนนสุมนเทวราช
ด้านตะวันตก ตั้งแต่มุมรั้วสนามกีฬา จังหวัดน่าน ทิศเหนือ และทุ่งควายเฒ่าข้าวสาร
วัดสถารสเป็นวัดเดียวในเวียงเหนือ ที่มีพระธาตุเจดีย์ จึงสันนิษฐานว่าเป็นวัดหลวง 

ศูนย์กลางนครน่าน อยู่ที่เวียงเหนือสืบกันมาได้ 36 ปี จนถึงสมัยของเจ้าอนันตวรฤิทธิเดชฯ ผู้ครองนครน่าน จึงได้ย้ายเมืองมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันใน จนถึงปี พ.ศ. 2397

หลักทักษาเมืองน่าน “เจ็ดประตู หนึ่งหนอง สิบสองวัด” (ก่อนปี พ.ศ.2450)

เวียงน่าน “เจ็ดประตู หนึ่งหนอง สิบสองวัด” 
หลังจากที่ย้ายเมืองมาเวียงเหนือแล้ว ต่อมาแม่น้ำน่านเปลี่ยนเส้นทางเบี่ยงห่างจากกำแพงเวียงใต้ไปมาก ในปีพ .ศ. 2397 เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ย้ายเมืองน่านจากเวียงเหนือ (บริเวณดงพระเนตรช้าง) กลับไปยังเวียงใต้ ปฏิสังขรณ์กำแพงเมือง ส่วนที่เคยถูกกระแสน้ำพัดพังทลายและซ่อมแซมสิ่งชำรุดทรุดโทรมให้ดีดังเดิม จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2400 (ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงทำเลที่ตั้งของเวียงเหนือ เวียงใต้ และเมืองน่านปัจจุบัน และแนวแม่น้ำน่านซึ่งเบี่ยงไปทางตะวันออก) อนึ่ง แม่น้ำส่วนที่เบี่ยงไปนั้น ความยาวเพียง 1 กิโลเมตรเศษ ลำน้ำที่เบี่ยงเกิดจากธรรมชาติหรือคนขุดมิอาจสรุปได้ เพราะไม่มีหลักฐานบันทึกไว้

ตัวเมืองน่านมีกำแพง 4 ด้าน มีคูเืมือง 3 ด้าน เว้นด้านติดแม่น้ำ กำแพงสูงประมาณ 2 วา กำแพงด้านตะวันออก มีประตูไชย (ประตูน้ำเข้ม) กำแพงด้านตะวันตก มีประตูปล่อง ประตูหนองห่าน กำแพงด้านทิศเหนือ มีประตูริม กำแพงด้านใต้มี ประตูเชียงใหม่ ประตูท่าลี่ จนคนน่านผูกเป็นคำคล้องจองว่า เจ็ดประตู หนึ่งหนอง สิบสองวัด (หนองในที่นี้คือ หนองแก้ว และวัดลำดับที่สิบสอง คือวัดน้อยในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านในปัจจุบัน)

ตลาดพัสดุและเรือนแถวไ้ม้ก่อนไฟไหม้ครั้งใหญ่

เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครน่านองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่าน

สมัยเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแก้ไขวิธีการปกครองแผ่นดินขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2435 โดยแบ่งการปกครองหัวเมืองออกเป็นมณฑลเทศาภิบาล ได้ทรงส่งข้าราชการผู้ใหญ่ที่วางพระราชหฤทัยจากกรุงเทพฯ เป็นผู้แทนต่างพระเนตรพระกรรณ มากำกับดูแลการบริหารบ้านเมืองของเจ้าผู้ครองนคร เรียกชื่อตามตำแหน่งทำเนียบว่า “ข้าหลวงประจำเมือง” 

ในปี พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านได้ประกอบคุณงามความดีแก่ราชการบ้านเมือง เป็นที่รักใคร่นับถือของเจ้านายท้าวพระยาและพลเมืองโดยทั่วไป จึงได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ เลือนยศฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น “พระเจ้านครน่าน” มีพระนามปรากฏตามสุพรรณปัฏว่า “พระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงศาธิบดี สุริตจารีราชนุภาวรักษ์ วิบูลยศักดิ์กิติไพศาล ภูบาลบพิตรสถิตย์ ณ นันทราชวงษ์ พระเจ้านครน่าน”

 เป็นพระเจ้านครน่านองค์แรก และองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่าน ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าน่าน

คุ้มเจ้าในเมืองน่าน

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ได้สร้าง หอคำ (คุ้มหลวง) ขึ้นแทนหลังเดิมซึ่งสร้างในสมัยของ เจ้าอนันตวรฤิทธิเดชฯ และด้านหน้าหอคำ มีข่วงไว้ทำหน้าที่คล้ายสนามหลวง สำหรับจัดงานพิธีต่างๆ ตลอดจนเป็นที่จัดขบวนทัพออกสู้ศึก จัดขบวนนำเสด็จหรือขบวนรักแขกเมืองสำคัญ เมื่อพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ถึงแก่พิราลัย เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (เจ้าอุปราช) ได้ขึ้นครองเมืองน่าน ในสมัยนี้อำนาจของเจ้าผู้ครองนครลดน้อยลง ทางกรุงเทพฯ ได้จัดส่งข้าราชการ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด คลังจังวหัด และสรรพากรจังหวัด มาประจำหน่วยงาน เรียกกันว่า “เค้าสนามหลวง” ส่วนตัวเจ้าผู้ครองนครได้กำหนดรายได้เป็นอัตราเงินเดือน ส่วยอากรต่างๆ ต้องเก็บเข้าท้องพระคลังทั้งสิ้น และในปี พ.ศ. 2474 เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน ถึงแก่พิราลัย ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครก็ถูกยุบเลิกตั้งแต่นั้นมา ส่วนหอคำได้ใช้เป็น ศาลากลางจังหวัดน่าน จนปี พ.ศ. 2511 จังหวัดน่าน ได้มอบหอคำให้กรมศิลปากร ใช้เป็นสถานที่จัดตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน จนกระทั่งปัจจุบัน

แผนที่แสดงเมืองน่านทั้ง 5 ยุค

ที่มา:http://www.lannatouring.com/Nan/Destination-guide/Nan-History.htm

ประวัติความเป็นมา

แข่งเรือลือเลื่องเมืองงาช้างดำจิตรกรรมวัดภูมินทร์แดนดินส้มสีทองเรืองรองพระธาตุแช่แห้ง

น่านเมืองเก่าที่มีชีวิต

เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์และยั่งยืน

      1 ใน 12 เมืองต้องห้ามพลาดที่กลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ “น่าน” จังหวัดเล็กๆทางภาคเหนือที่ยังคงไว้ซึ่งความน่ารักของบ้านเมืองผู้คนวิถีชีวิตศิลปะวัฒนธรรมและธรรมชาติมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เชิงสุขภาพ เชิงเกษตร ตลอดจนการท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะไม่พลาดที่จะไปเยือน

     จังหวัดน่านมีพื้นที่ 12,163.04 ตารางกิโลเมตรเป็น 1 ใน 17 จังหวัดภาคเหนือประกอบไปด้วยแบ่งการปกครองออกเป็น 15 อำเภอ99 ตำบล 893 หมู่บ้านพื้นที่ 12,163.04 ตารางกิโลเมตรของน่านส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนมีประชากร 478,227 คนเป็นคนไทยและมีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่มากมายได้แก่ม้งเมี่ยนขมุมลาบรีมูเซอไทลื้อไทพวนและไทยวนหรือคนเมืองอาศัยอยู่ร่วมกันโดยมีแม่น้ำน่านที่เกิดจากการรวมตัวกันของแม่น้ำ 8 สายเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตและผูกพันกับชาวน่านมายาวนานอีกทั้งแม่น้ำน่านยังเป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในบรรดาต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยามีความยาวถึง 740 กิโลเมตร 45% ของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ไปยังภาคกลางจึงมาจากแม่น้ำน่านนี้เอง

เมืองน่านเมื่อนานมา

       พงศาวดารเมืองน่านเล่าว่า ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 พญาพูคาได้ครอบครองพื้นที่ราบตอนบนอยู่ที่เมืองย่าง (ปัจจุบันคือพื้นที่ ต.ยม อ.ท่าวังผา จ.น่าน) วันหนึ่งพญาพูคาได้รับไข่นกสองฟองขนาดเท่าผลมะพร้าวจากพรานป่า จึงทรงเก็บรักษาไว้โดยแยกใส่กะทอ (ก๋วย) นุ่นและกะทอฝ้าย จากนั้นไข่ทั้งสองฟองก็ฟักออกมาเป็นทารก พญาพูคาจึงทรงรับเลี้ยงไว้เป็นโอรสบุญธรรม ให้นามโอรสจากกะทอนุ่นว่า “ขุนนุ่น” และโอรสจากกะทอฝ้ายว่า “ขุนฟอง” เมื่อโอรสทั้งสองเจริญพระชันษาเป็นบุรุษจึงมีพระประสงค์จะครองบ้านเมือง พญาพูคาจึงโปรดให้ไปหาพญาเถรแต๋ง เจ้าฤๅษีที่ดอยติ้ว ดอยวาว (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.สองแคว จ.น่าน) เพื่อขอพระกรุณาโปรดสร้างเมืองให้ พญาเถรแต๋งพาไปสถานที่แห่งหนึ่งทางทิศตะวันออกของแม่น้ำโขง ใช้ไม้เท้าแบ่งเขตแดนแล้วให้ชื่อเมืองว่า “จันทบุรี” โปรดให้ขุนนุ่นเป็นกษัตริย์ปกครอง (ปัจจุบันคือเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ส่วนทางทิศตะวันออกฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง พญาเถรแต๋งใช้ไม้เท้า

     แบ่งเขตแดนและให้ชื่อเมืองว่า “วรนคร (เมืองปัว)”แล้วโปรดให้ขุนฟองเป็นกษัตริย์ปกครอง (สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณที่ราบแถบ ต.ศิลาเพชร อ.ปัว จ.น่าน) ขุนฟองจึงถือเป็นกษัตริย์น่านองค์ที่ 1    

      หลังจากนั้นราวพ.ศ.1896 สมัยของพญาครานเมืองกษัตริย์น่านองค์ที่ 5 ได้สร้างพระธาตุแช่แห้งณดอยภูเพียงแช่แห้งเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทองที่ได้รับพระราชทานมาจากเจ้าเมืองสุโขทัยแล้วย้ายราชธานีมาสร้างเวียงใหม่ทางทิศใต้ของวรนครใกล้กับพระธาตุแช่แห้งเรียกว่า “เวียงพูเพียงแช่แห้ง”

     พ.ศ. 1906 สมัยของพญาผากองกษัตริย์น่านองค์ที่ 6 โอรสในพญาครานเมืองเวียงพูเพียงแช่แห้งประสบปัญหาความแห้งแล้งอย่างหนักพญาผากองทรงพระสุบินว่ามีโคอุศุภราชวิ่งข้ามแม่น้ำน่านมายังฝั่งตะวันตก

ซึ่งเป็นที่ราบกว้างใหญ่ แล้วถ่ายมูลไว้เป็นแนวหลักหมายเขตกำแพงเมือง เมื่อพระองค์เสด็จ ณ ที่แห่งนั้นก็ทอดพระเนตรเห็นจริงตามพระสุบินทุกประการ จึงทรงอพยพพลเมืองข้ามฝั่งแม่น้ำน่านมาสร้างราชธานีใหม่ที่ห้วยไคร้ (เขตเวียงใต้ของตัวเมืองน่านในปัจจุบัน) 

    ใน พ.ศ. 1911 และตั้งชื่อเมืองว่า “นันทบุรี” เพราะมีชีปะขาวชื่อ “นันทะ” อาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาชาวบ้านเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองน่าน” ตราบจนปัจจุบัน เพราะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำน่าน ขึ้นต่ออาณาจักรล้านนาและพม่า

    พระเจ้าติโลกราชยกทัพจากเชียงใหม่มาตีเมืองน่านในพ.ศ. 1993 สมัยของพญาอินต๊ะแก่นท้าวกษัตริย์น่านองค์ที่ 15 เมืองน่านจึงถูกผนวกเข้ากับเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนามีฐานะเป็นเพียงหัวเมืองหนึ่งโดยมีเจ้าเมืองที่ได้รับแต่งตั้งผลัดเปลี่ยนกันปกครองเมืองเรื่อยมา 

จนกระทั่งพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์แห่งกรุงหงสาวดี (พม่า) ตีเมืองเชียงใหม่ได้เมืองน่านจึงตกเป็นเมืองประเทศราชของพม่าร่วม 200 ปี

    ราวพ.ศ. 2232 เมืองน่านถูกทิ้งร้างนาน 5 ปีเนื่องจากพระเมืองราชาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 47 ได้คิดคบกับลาวแสนแก้วแข็งเมืองต่อพม่าพระเจ้ากรุงอังวะจึงได้ยกทัพมาปราบและเผาบ้านเมืองจนเสียหายอย่างหนักผู้คนล้มตายบางส่วนหลบหนีเข้าป่าจากนั้นอีก 1 ปีพวกลาวและแกว (ญวน) ก็เข้ามารุกรานเมืองน่านกวาดต้อนเอาชาวเมืองที่เหลือไปไว้เมืองลาวเมืองน่านจึงถูกทิ้งร้างเป็นครั้งแรก

     พ.ศ. 2314 พญามโนเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 54 ได้ส่งเจ้าน้อยวิทูรเข้าช่วยราชการศึกร่วมกับกองทัพหัวเมืองล้านนานำโดยพญาจ่าบ้านและเจ้ากาวิละเข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จนสามารถขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ได้และเมืองน่านก็ถูกทิ้งร้างอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อพ.ศ. 2321 ในสมัยของพญาวิทูรเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 55 เนื่องจากถูกจับตัวไปยังกรุงศรีอยุธยาเพราะไม่จงรักภักดีน่านจึงขาดผู้นำกองทัพพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนจึงเข้ามารุกรานเมืองน่านและกวาดต้อนเอาชาวเมืองน่านไปไว้ที่เชียงแสนเมืองน่านจึงถูกทิ้งร้างนาน 23 ปี สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์จักรี 

    ครั้นเมื่อพ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีเจ้าฟ้าอัทธวรปัญโญ (ขณะนั้นรั้งเมืองอยู่ที่เมืองเทิงปัจจุบันคืออ.เทิงจ.เชียงราย) จึงเข้าเฝ้าฯเพื่อทูลสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาในพ.ศ. 2331 รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าฟ้าอัทธวรปัญโญเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 57 และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ซ่อมสร้างเมืองน่านหลังจากที่ถูกทิ้งร้างนาน 23 ปีนับแต่นั้นมาเมืองน่านจึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ 

    จากนั้นเมืองน่านก็มีการย้ายเมืองอีก 2 ครั้งเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งแรกในพ.ศ. 2360สมัยของเจ้าสุมนเทวราชได้ย้ายเมืองไปอยู่บริเวณดงพระเนตรช้างมีวัดสถารศเป็นวัดหลวงประจำเวียงเหนือ 

     พ.ศ. 2398 เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อย้ายเมืองจากดงพระเนตรช้างกลับมาอยู่ที่เวียงเก่า (ตัวเมืองน่านปัจจุบัน) แล้วโปรดให้ซ่อมสร้างเวียงเก่า โดยให้สร้างคุ้มแก้ว 7 หลัง เป็นที่ประทับ และสร้าง “หอคำ” เป็นท้องพระโรงออกว่าราชการเมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯสถาปนาพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯขึ้นเป็นพระเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 นับเป็นเจ้านครน่านองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาเป็น “พระเจ้า” เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายได้แก่มหาอำมาตย์โทเจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 64 ถึงแก่พิราลัยในพ.ศ. 2474 นับเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านคนสุดท้ายและในพ.ศ. 2433 ได้มีพระยาพิชัยชาญฤทธิ์เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก

เมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์ 

     จังหวัดน่านนอกจากจะเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำน่านแล้วยังมีพื้นที่ป่ามากถึง 6,496,231.62 ไร่คิดเป็นร้อยละ 85.45 ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดโดยจำแนกเป็นป่าอนุรักษ์ 2,781,676.12 ไร่และป่าสงวนแห่งชาติ 17 แห่ง 3,714,555.50 ไร่ 

     จึงทำให้น่านยังมีอุทยานแห่งชาติมากถึง 7 แห่งได้แก่อุทยานแห่งชาติดอยภูคาอุทยานแห่งชาติขุนน่านอุทยานแห่งชาติขุนสถานอุทยานแห่งชาติแม่จริมอุทยานแห่งชาตินันทบุรีอุทยานแห่งชาติศรีน่านและอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน

     ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าและน้ำประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดน่านจึงมีอาชีพเกษตรกรโดยจังหวัดน่านมีพื้นที่ทางการเกษตรถึง 1,414,693 ล้านไร่ 16.78% เป็นนาพื้นที่ปลูกข้าว 55.54% ปลูกพืชไร่20.18% เป็นสวนไม้ผลและไม้ยืนต้น 7.22% คือที่ดินทางการเกษตรอื่นๆและ 0.27% เป็นที่ดินทางการเกษตรอื่นๆเช่นสวนผักไม้ดอกไม้ประดับโดยจังหวัดน่านมีรายได้จากภาคการเกษตร 8,582 ล้านบาทต่อปีนอกจากภาคการเกษตรจังหวัดน่านยังมีรายได้จากภาคอุตสาหกรรม (เกี่ยวกับผ้าทอเครื่องเงินและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร) 18,564,631 ล้านบาทต่อปี

    และด้วยความสวยงามของธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ป่าเขาความรุ่มรวยและเข้มแข็งทางวัฒนธรรมกับประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า 700 ปี จึงทำให้น่านกลายเป็นเมืองหมุดหมายสำคัญในการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดน่านจากการท่องเที่ยวปีละไม่น้อยกว่า 2,154.85 ล้านบาท

ขับเคลื่อนสู่เมืองแห่งความสุข

Smart Province

 Smart People & Smart City  

      นอกจากการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ “น่าน : เมืองแห่งความสุขเศรษฐกิจสร้างสรรค์ธรรมชาติสมบูรณ์การเกษตรมั่งคั่งชุมชนเข้มแข็งท่องเที่ยวยั่งยืน” แล้วเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวน่านให้ดีขึ้นอย่างสอดคล้องกับยุค Thailand 4.0 จังหวัดน่านจึงต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพพร้อมการพัฒนาและได้รับองค์ความรู้สู่การเป็นจังหวัดอัจฉริยะหรือ Smart Province อย่างสมบูรณ์แบบโดยเร่งพัฒนาเมืองให้ครอบคลุมทั้ง 7 ด้านได้แก่

1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)

คำนึงถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและ

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ ดูแลสภาพอากาศ การจัดการของเสีย และการเฝ้าระวังภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

2. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)

สร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเช่นเมืองเกษตรอัจฉริยะเมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ 

3. ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)

มุ่งพัฒนาเน้นระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนประเทศโดยเพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงของระบบขนส่งและการสัญจรที่หลากหลายเพิ่มความสะดวกปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)

สามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสร้างความสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้

พลังงานในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก

5. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)

เป็นเมืองที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ทักษะและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมและการมีส่วนร่วม 

6. ดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)

เป็นเมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีปลอดภัยและมีความสุข

7. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

มีการพัฒนาระบบบริการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการของภาครัฐมุ่งเน้นความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรม 

ข้อมูลจาก http://www.nan.go.th/

แชร์