ประวัติอำเภอนาหมื่น

อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน มีประชากรตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ปี มาแล้ว อยู่ทางใต้สุดของจังหวัดน่าน ระยะทางห่างจากจังหวัดประมาณ ๘๐ กิโลเมตร   สภาพพื้นที่เป็นภูเขา  และที่ราบบริเวณหุบเขา ในสมัยก่อนแบ่งออกเป็น  ๒ เมือง  ขึ้นตรงต่อแขวงศรีษะเกษ   (อำเภอนาน้อย)  ได้แก่

–  เมืองหิน ปัจจุบันคือเขตตำบลบ่อแก้ว ตำบลนาทะนุง และรวมถึงพื้นที่   ตำบลสถาน  อำเภอนาน้อย  ในปัจจุบัน  สาเหตุที่เรียกว่า  เมืองหินเพราะว่ามีลำห้วยหนึ่งไหลผ่านพื้นที่ แหล่งชีวิต  ทำมาหากินของชาวบ้าน มีหินสีขาวที่แข็งมาก มีอยู่จำนวนมาก  ชาวบ้านเรียกลำห้วยนี้ว่า  “ลำน้ำหิน” และชาวบ้านที่ลำห้วยน้ำหินไหลผ่านว่า  “เมืองหิน”                           

–  เมืองลี   ปัจจุบันคือเขตตำบลเมืองลี และตำบลปิงหลวงในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ทางราชการเห็นว่าการรวมแขวงไม่สะดวกต่อการปกครอง จึงตั้งเป็นอำเภอขึ้น  เรียกว่าอำเภอศรีษะเกษ หรืออำเภอนาน้อยในปัจจุบัน ซึ่งรวมเมืองหิน   เมืองลี ดังกล่าวด้วย ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่า อำเภอนาน้อยมีพื้นที่กว้างขวาง และมีสภาพเป็นป่าเขาทุรกันดาร การสัญจรไปมาระหว่างตำบล กับอำเภอนาน้อยไม่สะดวก    ทำให้การบริหารราชการเป็นไปด้วยความลำบาก     และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ยากแก่การติดต่อกับทางราชการ และยากแก่การสอดส่องดูแลทุกข์สุขของประชาชน อีกทั้งยังมีปัญหาการแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์   จึงให้แยกเมืองหิน เมืองลี  ซึ่งมีตำบลบ่อแก้ว ตำบลนาทะนุง และตำบลเมืองลีออกจากอำเภอนาน้อย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอนาหมื่น เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๒๑

           ต่อมากิ่งอำเภอนาหมื่น ได้ขอตั้งตำบลเพิ่มขึ้นอีก ๑ ตำบล คือตำบลปิงหลวง โดยแยกจากตำบลเมืองลี และกิ่งอำเภอนาหมื่น    จึงได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๗

ที่มาของคำว่า  “อำเภอนาหมื่น”  แต่เดิมหมู่บ้านที่อำเภอตั้งอยู่   ชื่อบ้านหลักหมื่น     ตำบลนาทะนุง สาเหตุที่ชื่อบ้านหลักหมื่น  ได้มีเล่าสืบต่อกันมาว่า  มีเสาหลักกิโลเมตรที่ทางราชการมาปักไว้แต่ไม่ทราบว่า พ.ศ.ใด และยังบอกว่าเสานี้ คือ “เสาแดนเมือง”  เป็นหลักที่หนึ่งหมื่น  แต่ไม่ทราบว่าเสาต้นที่หนึ่งเริ่มนับมาจากที่ใด  หมู่บ้านดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า  “บ้านหลักหมื่น” เป็นต้นมา   เสาหลักกิโลเมตรที่หนึ่งหมื่นดังกล่าว  เป็นเสาไม้เนื้อแข็ง สี่เหลี่ยม  ขนาด ๑๐ x ๑๐ นิ้ว  ยาว  ๓ เมตร รอบฐานมีเสาไม้ขนาด  ๕ x ๕ นิ้ว ยาว  ๑.๕ เมตร ฝังรอบอีก  ๕ ต้น  กาลเวลาล่วงเลยมานาน เสาหลักที่หมื่นได้ล้มลง  และต่อมาโดยการนำของท่านนายอำเภอนาหมื่นสมัยนั้น คือนายดิเรก  ถึงฝั่ง  พร้อมราษฎรในอำเภอนำเสาแดนเมืองมาปักไว้ที่ที่ว่าการกิ่งอำเภอนาหมื่น และตั้งศาลขึ้นมา เรียกกันทั่วไปว่า “ศาลหลักเมือง”  ตั้งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอนาหมื่น และเป็นที่นับถือ ยึดเหนี่ยวรวมน้ำใจของชาวอำเภอนาหมื่นจนถึงปัจจุบันนี้    และชื่ออำเภอนาหมื่นได้มาจากหลักเมืองนาหมื่น  ถือว่าเป็นสิริมงคล และทางผู้ใหญ่และชาวบ้านเห็นฟ้องกันว่าที่ตั้งของที่ว่าการอำเภออยู่บริเวณหมู่บ้านหลักหมื่น และต้องการให้สอดคล้องกับอำเภอนาน้อย และการตั้งใหม่ควรให้ดี เด่น กว่าของเดิม  ซึ่งนาน้อย หมายถึงที่นามีน้อย  แต่คำว่า นาหมื่น    หมายถึงมีที่นามากเป็นหมื่นไร่    จึงได้ตั้งชื่อว่า “กิ่งอำเภอนาหมื่น”  (ตั้งเมื่อ  ๕  กรกฎาคม  ๒๕๓๗) ปัจจุบันอำเภอนาหมื่นแบ่งการปกครองเป็น  ๕ ตำบล  คือ  ตำบลบ่อแก้ว  ตำบลนาทะนุง  ตำบลเมืองลี  และตำบลปิงหลวง 

  อุปนิสัยของชาวอำเภอนาหมื่น   เป็นผู้ที่มีจิตใจอารี    เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่     รักความสันโดด  ส่วนมากเป็นชนพื้นเมือง  ทำมาหากินด้วยการ  ทำไร่  ทำนา  ทำสวน  นับถือศาสนาพุทธ  และชาวบ้านยังเชื่อเรื่องไสยศาสตร์  และยังมีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ยึดเป็นที่พึ่งทางใจ  มีการบนบานศาลกล่าว  มีผีบ้าน ผีเมือง  ประเพณีมากมาย  เช่น  ประเพณีนมัสการพระเจ้าแก้ว  “แปดเป็ง” ประเพณีเซ่นไหว้เจ้าพ่อเขาแสง  ประเพณีสงกรานต์ (ปี๋ใหม่เมือง)  ประเพณีทานก๋วยสลาก  ประเพณีการตั้งธรรม (ฟังธรรมเทศน์มหาชาติ)  ประเพณีลอยกระทงงานยี่เป็ง   พิธีแต่งงาน  ขึ้นบ้านใหม่ บวชนาค ที่เป็นเอกลักษณ์นิยม ประเพณีแห่นางแมว 

                อำเภอนาหมื่นจังหวัดน่าน  มีประชาชนเข้าตั้งรกรากถิ่นฐานทำมาหากินอยู่เป็นระยะเวลานานหลายร้อยปีมาแล้ว  ตั้งอยู่ทางทิศใต้สุดของจังหวัดน่าน  ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๘๐  กิโลเมตร  ในอดีตเมืองนี้เป็นเส้นทางเดินเท้าสายสำคัญระหว่างเมืองล้านนากับเมืองใต้ เป็นบริเวณที่มีผู้คนสัญจรไปมาไม่ขาดสาย   

                อำเภอนาหมื่นนั้นได้ตั้งเป็นอำเภอเมื่อวันที่  ๗ เมษายน  พ.ศ. ๒๕๓๗ แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ อ. นาน้อย  ในครั้งแรกที่จะก่อตั้งเป็นอำเภอนั้น  ได้ตั้งเป็นกิ่ง อำเภอก่อน  โดยได้แยกตัว  ออกมาจากอำเภอนาน้อยเมื่อวันที่  ๙  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๒๕  และได้ตั้งที่ทำการอำเภออยู่ที่บ้านนาหลักหมื่น  หมู่  ๑  ตำบลนาทะนุง ซึ่งประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านนี้มีอยู่ว่า  ในอดีตได้มีผู้คนนำเอาเสาหลักแดนเมืองมาปักฝังไว้  เมื่อวันเดือนปีใดไม่ทราบ  เป็นหลักที่หนึ่งหมื่นที่หมู่บ้านนี้พอดี  แต่ไม่รู้ว่าเป็นการวัดโดยลักษณะใดและวัดมาจากไหน  ลักษณะของเสาหลักหมื่นดังกล่าวนั้น  เป็นเสาไม้เนื้อแข็งสี่เหลี่ยมขนาด  ๑๐  ´ ๑๐ นิ้ว  ยาว ๓ เมตร  รอบฐานมีเสาไม้ขนาด ๕ ´ ๕ นิ้ว  ยาวเมตรครึ่งฝังรอบ  อีกสี่ด้าน บริเวณเสากลางมีปรากฏร่องรอยการจารึกอักษรขอมเมืองไว้ด้วย  แต่อยู่ในสภาพเลือนลาง  อ่านจับใจความไม่ได้  อีกทั้งยังมีร่องรอยการถูกฟักฟันด้วยของมีคมเต็มไปหมด ด้วยเหตุที่หมู่บ้านนี้มีเสาหลักหมื่นตั้งอยู่  ชาวบ้านจึงเรียกว่า บ้านหลักหมื่น แต่สำหรับคนโบราณเก่าแก่นั้นจะเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านนาหลักหมื่น  เพราะหมู่บ้านนี้มีนาล้อมรอบอยู่ด้วย  หลังจากที่ได้ตั้งกิ่งอำเภออยู่ที่หมู่บ้านนี้แล้ว  ทางกำนันผู้ใหญ่บ้านและหน่วยงานราชการต่างๆ   ก็ได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันว่าจะตั้งชื่อ  กิ่งอำเภอว่าอย่างไร  ในครั้งนั้นมีผู้คนส่วนหนึ่งเสนอว่าควรจะตั้งชื่อว่า กิ่งอำเภอเมืองหิน เพราะว่าเป็นชื่อเก่าแก่ของบ้านเมืองแห่งนี้  แต่มีอีกกลุ่มหนึ่งคัดค้านโดยให้เหตุผลว่า  การตั้งชื่อว่ากิ่ง อ. เมืองหินนั้นก็ดีอยู่  แต่คำว่าเมืองหินนั้นเป็นคำโบราณไม่ค่อยทันสมัย   และถ้าในอนาคตผู้คนที่ได้ยินชื่ออาจจะเกิดความเข้าใจผิด ว่าประชาชนในเมืองนี้เป็นคนแข็งกระด้างเหมือนหิน และมีอีกกลุ่มหนึ่งเสนอให้ตั้งชื่อเป็น อำเภอบ่อแก้วแต่ได้รับการทักท้วงว่าเป็นการเอาเปรียบตำบลนาทะนุง และตำบลเมืองลี ในตอนนั้นมี ๓ ตำบลในที่สุดได้ตกลงกันว่า ให้เอาชื่อหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งมาเป็นชื่ออำเภอ โดยตัดคำว่าหลักออกเสีย ให้เหลือแต่คำว่า นาหมื่น เพื่อให้ดูสอดคล้องกับอำเภอนาน้อยและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองด้วย

             สำหรับเสาแดนเมืองหลักหมื่นที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้น เวลาได้ผ่านเลยมาเป็นเวลานานเสาหลักได้ล้มลง ต่อมาบรรดาประชาชนชาวอำเภอนาหมื่น นำโดยนายดิเรก ถึงฝั่ง หัวหน้ากิ่งอำเภอนาหมื่นในขณะนั้น ได้นำเอาเสาแดนเมืองเก่ามาฝังใว้ตรงที่ทำการกิ่งอำเภอนาหมื่นแล้วสร้างเป็นศาลหลักเมืองขึ้นมา เรียกว่าศาลหลักเมืองนาหมื่น ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวอำเอนาหมื่นมาจนถึงปัจจุบัน

              อำเภอนาหมื่นปัจจุบันมีอยู่ ๕ ตำบล ประกอบด้วย ตำบลบ่อแก้ว ตำบลนาทะนุง ตำบลเมืองลี และ  ตำบลปิงหลวงในอดีตนั้นได้แบ่งเป็น ๒ เมืองคือ ๑.เมืองหิน ประกอบด้วยตำบลบ่อแก้ว   ตำบลนาทะนุง และยังรวมไปถึงตำบลสถาน ที่เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอนาน้อยในปัจจุบันด้วย  ๒.เมืองลี ประกอบด้วยตำบลเมืองลีกับตำบลปิงหลวง    ซึ่งทั้งสองเมืองนี้เป็นเพียงเมืองเล็กๆที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองน่านเท่านั้นแต่มีความสำคัญคือเป็นเมืองด่านใต้ของเมืองน่านในสมัยที่ยังมีเจ้าเมืองปกครองอยู่ได้มีด่านตรวจคนเข้าเมืองอยู่ที่ บ้านนาทะนุง เมืองหินและในปี พ.ศ.๒๕๕๕ ข้าศึกพวกเงี้ยวเข้าตีเมืองแพร่นั้น ทางเมืองน่านก็ได้ทำการตั้งด่านอยู่ที่ดอยผาไก่ขัน เมืองลี ดังนั้นเมืองทั้งสองจึงเป็นเมืองด่านใต้ของเมืองน่าน ผู้คนในสมัยนั้นมักจะเรียกเมืองทั้งสองนี้ว่าเมืองน่านน้อย  แต่สาเหตุที่ชาวบ้านเรียกบ้านเมืองตัวเองว่าเมืองหินกับเมืองลี นั้นมีหลายประการ  ในที่นี้จะกล่าวถึงที่มาของเมืองหินก่อน โดยมีคนกล่าวถึงเมืองหินไว้อยู่ ๒ ประการ คือ

          ประการที่๑. ตามตำนานมุขะปาฐะ ซึ่งเป็นตำนานเก่าแก่ปรัมปราของเมืองนี้ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมทีแรกผู้ที่มาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่นี่ชื่อว่าอ้ายราชคฤห์ หรือพญาราชคฤห์ ในกาลครั้งนั้นท่านได้รบทัพจับศึกกับพวกแก๋ว หรือลัวะ เพื่อแย่งชิงพื้นที่ทำมาหากินของกันและกัน และสามารถเอาชนะพวกแก๋วได้โดยการนำเอาก้อนหินผาต่าง ๆ ทั้งใหญ่เล็กมาฝังลงอาคมแวดล้อมตามค่ายหรือฐานที่อยู่ของตน โดยฝ่ายของพญาราชคฤห์นั้นอยู่บนภูเขาทางทิศตะวันออก ส่วนพวกพญาแก๋ว อยู่บนพื้นที่ราบ ในครั้งนั้นพวกแก๋วได้รุกล้ำเข้าไปในเขตที่ฝังหินแล้วต้องมนต์อาคมจนมองไม่เห็นฝ่ายพญาราชคฤห์ได้โดยถนัด เพราะเกิดเหตุมืดฟ้ามัวดิน ทั้ง ๒ ฝ่ายได้ต่อสู้กันจนฝ่ายแก๋วเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปในที่สุด  หลังจากนั้นพญาราชคฤห์ก็ยกไพร่พลชาวเมืองลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ ด้วยเหตุที่เมืองนี้มีหินเขี้ยวม้า อยู่เป็นจำนวนมาก และชาวเมืองในขณะนั้นถือว่าหินนั้นได้มีบทบาทที่ช่วยทำให้พวกตนมีชีวิตรอดมาได้ จึงถือเอานิมิตนั้นตั้งชื่อเมืองของตนว่าเมืองหินและเรียกบุคคลที่เป็นหัวหน้าของตนเองว่าพญาหินสืบต่อมา สำหรับด่านต่างๆที่ชาวบ้านใช้ฝังหินเสกเป่ามนต์ยำในครั้งนั้นบางที่ยังหลงเหลือให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน  เช่น  ที่ด่านประตูหิน   และบริเวณพื้นที่ห้วยฮางริน ซึ่งชาวเมืองหินเชื่อว่าพญาราชคฤห์ท่านมักไปอยู่ในที่นั่น หลังจากที่ท่านจุติตายไปแล้วนั้น ชาวเมืองที่เคารพนับถือท่านได้สร้างศาลแล้วอัญเชิญให้ท่านเป็นอารักข์ประจำเมืองนี้มาทุกยุคทุกสมัย ถึงแม้ว่าในกาลบางครั้งชาวบ้านชาวเมืองจะถูกกวาดต้อนไปอยู่บ้านอื่นเมืองอื่นในเวลาต่อมา เช่นไปอยู่ที่เมืองลาวบ้าง เมืองพ้อ เมืองฮามบ้าง แต่พวกเขาเหล่านั้นถึงจะไปอยู่ที่ไหนก็ตามก็มิได้ละเลยสิ่งที่เคยปฏิบัติยังคงเคารพนับถือท่านอยู่ตามบรรพบุรุษ แต่ก็ยังมีเหลืออยู่ในบางท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งต่อมาภายหลังชาวเมืองหินส่วนใหญ่ที่ที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่ในบ้านเมืองอื่นต่างก็พากันกลับมาอยู่ยังถิ่นฐานเดิมนี้อีกเป็นส่วนมาก นี่เป็นเพียงตำนานพื้นเมืองเดิมของเมืองหินเท่านั้น

          ประการที่๒.คือบ้านเมืองนี้ มีลำน้ำสายหนึ่งซึ่งชาวบ้านเรียกว่าลำน้ำหินไหลผ่านพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านแถบนี้ มีหินสีขาวสวยงามอยู่มากมาย ชาวบ้านจึงเรียกว่าน้ำหิน และเรียกหมู่บ้านที่น้ำหินไหลผ่านว่าเมืองหิน ซึ่งมติข้อที่ ๒ นี้ มีหลายคนไม่ค่อยเห็นด้วยโดยให้เหตุผลหลายประการเช่นว่า การที่ผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในเมืองนี้ จะต้องตั้งชื่อบ้านเมืองของตนตามลักษณะของบ้านนั้นเมืองนั้นที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดเป็นสำคัญก่อน   แล้วจึงจะกำหนดชื่อของสถานที่ต่างๆ ระแวกหมู่บ้าน  แม่น้ำ และภูเขาเป็นต้น  ซึ่งกว่าจะเป็นที่ยอมรับ ของคนทั่วไป ก็ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร  ถ้าหากว่าหมู่บ้านที่น้ำหินไหลผ่านเรียกว่าเมืองหินแล้ว  ทำไมบริเวณพื้นที่แม่น้ำหินไม่ได้ไหลผ่าน และไม่ได้เกี่ยวข้องเลย เช่นบริเวณบ้านดอนมูล บ้านค้างอ้อย ก็ถูกเรียกว่าเมืองหินเหมือนกัน แต่ตรงกันข้าม บริเวณพื้นที่ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย มีหลายหมู่บ้านที่ลำน้ำหินไหลผ่านแต่กลับไม่เรียกว่าเป็นเมืองหินแต่เขากลับเรียกว่าเมืองหล่ม นอกจากนั้นพื้นที่อำเภอนาน้อยก็มีแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านเมือง คือแม่น้ำแหง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายที่ใหญ่กว่าแม่น้ำหินหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในอำเภอนาน้อยมาเป็นเวลานานแต่ก็ไม่เห็นมีใครเรียกชื่อว่าเมืองแหงเลย กลับเรียกชื่อเมืองของตนเองว่า  เมืองงั่ว เพราะในอดีตพื้นที่บริเวณนั้นมีต้นมะงั่วอยู่เป็นจำนวนมาก ฉะนั้นคำว่าเมืองหินก็น่าจะแปลว่าบริเวณพื้นที่ที่มีหินอยู่มากกว่าเมืองอื่นๆในเมืองน่าน ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับชื่อของแม่น้ำเพราะว่าแม่น้ำสายไหนๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีหินอยู่แต่เหตุที่เรียกว่าเมืองหินก็เพราะว่าน้ำสายนี้ไหลผ่านศูนย์กลางเมืองหินพอดีจึงเรียกกันว่าแม่น้ำหิน  และแม่น้ำสายต่างๆ ที่ไหลมารวมกัน ผ่านเมืองน่าน ก็เรียกกันว่า แม่น้ำน่าน หากว่าตามหลักฐานที่ค้นพบในจารึกคำภีร์ใบลานตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในพื้นที่เมืองนี้มักจะเขียนเป็นภาษาบาลีว่า เมืองเสลานิคมบ้าง เมืองเสละรัฏฐะบ้าง ดังเช่นคำว่าหลเสละรัฏฐะ ที่นี้หมายมีอาชญาหลวงราชคฤห์ตนเป็นเค้าเป็นประธานในรัฏฐะสภาดังนี้เป็นต้น ซึ่งคำว่านิคมแปลว่าเมืองหรือตำบล เสลาแปลว่าหิน อีกคำหนึ่งว่า เสละรัฏฐะเสละแปลว่าหิน รัฏฐะแปลว่าแว่นแคว้น รวมความแล้วแปลว่า แว่นแคว้นที่มีหินมาก

             อย่างไรก็ตามจากเหตุผลทั้ง ๒ ข้อ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ต่างก็มีเหตุผลของตนเอง จึงเป็นเรื่องที่น่าคิด และน่าศึกษาค้นคว้าต่อไป ถึงจะยอมรับกันทั้งสองมติก็ไม่ได้เสียหายอะไร  ทั้งหมดนี้คือที่มาของคำว่าเมืองหิน

            ส่วนที่มาของคำว่าเมืองลีนั้น น่าจะมาจากคำว่าเมืองลี้ เพราะว่าในอดีต ผู้คนจากเมืองต่างๆ ที่หลบลี้หนีภัยข้าศึกสงคราม หรือหนีโทษบ้านเมืองก็มักจะไปซ่อนตัวอยู่เมืองนี้ เพราะมีสภาพเป็นป่าเขา ยากแก่การค้นหาตัว สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นเมืองลี น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากภาษาบาลีมคธ เพราะคำว่าลี หรือลีนะ แปลว่าหลีกเล้น หรือซ่อนตัว ซึ่งก็ได้ความหมายเหมือนกับคำว่าลี้ เพราะว่าในยุคนั้นผู้คนมักนิยมเรียกชื่อเมืองเป็นภาษาบาลี เช่นเมืองหินว่าเมืองเสลานิคม เมืองน่านว่าเมืองนันทบุรี เป็นต้น

แต่หลักฐานที่พบในหนังสือนครน่านเมื่อ พ.ศ. ๒๕๗๘ ยังเรียกชื่อของเมืองลีว่า เมืองลี้ ฉะนั้นคำว่าลี้ กับลี ก็น่าจะมีความหมายเหมือนกัน  ส่วนเหตุผลอีกข้อหนึ่งว่าเมืองนี้มีรูปสัณฐานเป็นรูปวงรี  จึงเรียกว่าเมืองลี แต่เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้นเพระคำว่าวงรีนั้นเขียนเป็นรูปตัว ร ไม่ใช่ตัว ล และคำว่าวงรีนั้น ไม่ค่อยนิยมใช่กันในภาษาเหนือ ฉะนั้นเหตุผลข้างต้นน่าจะเป็นไปได้มากกว่า นี่คือที่มาของคำว่าเมืองลี

           เมืองหินกับเมืองลี ถึงจะเป็นเมืองเล็ก ๆ ไม่มีความสำคัญมาก แต่ก็มีประวัติความเป็นมายาวนาน พอๆกับเมืองน่าน โดยเฉพาะเมืองหินซึ่งตามหลักฐานที่ปรากฏพงศาวดารของเมืองล้านนา เช่นที่เมืองเชียงใหม่และเมืองเชียงแสน ก็ได้กล่าวถึงเมืองหินไว้ เมื่อ ๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ดังปากรกฎในพงศาวดารพื้นเมืองเชียงใหม่ ผูก ๕ มีเนื้อว่าปีดับไส้นั้น พญายสราช ใช้มาสืบไมตรีราชทูต ๑ อุปทูต ๑ มาแขกเจ้าพญาติโลกราช บ่หื้อคัล อยู่ ๒๓วัน แขกลาเมือหมื่นด้ามพร้าอ้ายอาณัติหื้อลูกบ่าว แห่งตนไปนั่งถ้าที่ท่าเรือครูบฆ่าแขกตายเสี้ยงหั้นแล พระเป็นเจ้าซ้ำหื้อพันพวงตูมาหลานหมื่นด้ามพร้าอ้าย ไปเลียบด่านเตริน (อ.เถิน จ.ลำปาง) เขาไปขึ้นเอาลานชาวใต้มาเลียบด่านพบชาวเราอันขึ้นลาน ลวดรบกันที่นั่น พระเป็นเจ้าซ้ำหื้อหมื่นอ้ายนครลงไปช่วย พันพวงตูมา รบชาวใต้ยังเมืองเตริน  ชาวใต้จึงหักหนีไปหั้นแล  ปีรวายสง้าสกราช ๘๕๘ ตัว (พ.ศ. ๒๐๒๙) ชาวใต้เอาพลเสิก (ศึก) มาเมืองกีบกับเมืองหิน ลูกพันนาเมืองน่าน ชาวใต้ได้ฆ่าหมื่นกีบ หมื่นหินตาย  พระเป็นเจ้าติโลกราช เสด็จยาตราไปเถิงแม่ทรา ขุนเมืองน่านหื้อหมื่นหนังสือมาไหว้พระเป็นเจ้าว่าเสิกถอยแล้ว พระเป็นเจ้าลวดคืนมาเมืองเชียงใหม่ในปีรวายสง้านั้น          นี่เป็นเพียงบางส่วนที่พบเจอ   นอกจากนั้น ณ  ดินแดนแห่งเมืองหินนี้ เมื่อ ๓๗๘ ปี ทีผ่านมาคือ ในพ.ศ. ๒๑๖๗ เคยมีกษัตริย์ของพม่า แห่งราชวงศ์ นยองยาน นามว่า  พระเจ้าสะโด๊ะมังทราสุทโธหรือที่ผู้คนชาวเมืองหินส่วนใหญ่รู้จักกันดี ในนามว่า  เจ้าฟ้าสุทโธ เสด็จมารุกรานถึงเมืองหินนี้  ตามตำนานและหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าฟ้าสุทโธมีอยู่ในเมืองหินนี้มากมาย  อาทิเช่น ตำนานเรื่องของนางเป้าและนางลิม  ตำนานอะม็อกสีนาด (ปืนใหญ่) ของเจ้าฟ้าสุทโธ ที่ทหารนำมาทิ้งใว้ตามป่าตามเขา  และตำนานเรื่องแท่นสุทโธซึ่งในที่นี้จะไม่กล่าวถึงรายละเอียด เพราะผู้คนส่วนมากก็รู้กันอยู่แล้ว

วัดบ่อแก้ว

              อย่างไรก็ตามสันนิษฐานว่า อำเภอนาหมื่นนี้มีผู้คนชาวล้านนา เข้ามาอยู่อาศัยอยู่เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ปีมาแล้ว คือมีขึ้นหลังจาก ตั้งเมืองน่านได้ประมาณ ๒๐๐ ปี แต่เนื่องจากว่าเมืองหินนั้นเป็นเมืองที่มีผู้คนสัญจรไปมาอยู่ไม่ขาดสาย เป็นเหตุให้ชาวบ้านชาวเมืองอยู่ไม่ค่อยสงบสุข ผู้คนมักจะถูกกวาดต้อนไปๆมาๆ  สร้างบ้านเรือนอยู่ไม่เป็นที่เป็นแห่ง ดังคำภาษิตโบราณ ของคนเฒ่าคนแก่ ได้กล่าวใว้ว่า บ้านไปอยู่ไหน วัดไปอยู่นั่น บางครั้งบางคราว ก็กลายเป็นเมืองที่ไม่ค่อยมีคนพักอาศัย  แต่ก็ไม่ถึงขนาดเป็นเมืองร้าง บางครั้งก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีก  ดังจะเห็นได้ว่าในพื้นที่ของอำเภอนาหมื่นนี้ มีสภาพวัดร้าง  และตำนานเกี่ยววัดร้างอยู่หลายแห่ง เช่นวัดบ้านถ่อน วัดเทพดาราม วัดจอมแจ้ง วัดนายาง  วัดบ้านม่อน วัดดอยยุง เป็นต้น ซึ่งวัดดังกล่าวมานี้ บางวัดก็มีหลักฐานเหลืออยู่ จนถึงทุกวันนี้ บางวัดก็รู้ที่มาที่ไปมีแต่ตำนานเล่าขานกันเท่านั้น ถึงแม้ว่าบ้านเมืองแห่งนี้ จะมีมานานแล้วก็ตามแต่ก็ไม่มั่นคงถาวร  จนถึงยุค ๒๐๐ ปีที่ผ่านมานี้เองหลังจากเมืองน่านได้พ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของพม่าแล้ว ได้กลับมาขึ้นต่อกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้บ้านเมืองแห่งนี้ได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข  ประชาชนมีอิสระภาพ ในการทำมาหากินเลี้ยงชีพ  ดำเดินชีวิตโดยสะดวก สบาย ไม่ต้องถูกกดขี่ข่มเหงจากพวกพม่าอีกต่อไป ดังจะเห็นได้ว่า การพระพุทธศาสนา ของเมืองหินในช่วง๒๐๐ ปีที่ผ่านมานั้น มีความเจริญรุ่งเรืองมาก โดยเฉพาะพระสงฆ์องค์เจ้าในเมืองนี้ มักจะติดต่อ ไปมาหาสู่กับพระสงฆ์เมืองต่างๆ เช่นเมืองเชียงใหม่เชียงแสน  เพื่อคัดลอกเอาพระไตรปิฎกมาใว้ในเมืองแห่งนี้  อย่างมากมายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์  ทำให้บ้านเมืองแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรือง ไม่น้อยหน้าหัวเมืองอื่นๆในเมืองน่าน

         จากหลักฐานทางด้านโบราณคดีของไทย ได้สำรวจพบว่าบริเวณพื้นที่อำเภอนาน้อย ได้ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ มาช้านาน ไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ –๒๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว  โดยเป็นมนุษย์สมัยยุคหินเก่าดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์และเก็บพืชผักเป็นอาหาร อาศัยอยู่ในบริเวณเสาดิน และตามที่ราบทั่วไป  หลังจากนั้นก็มีวิวัฒนาการ ขึ้นมาเรื่อยๆ ตามกาลเวลา อันแสนยาวนานจนถึงเมือประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ก็มีกลุ่มชนเผ่าต่างๆมาอาศัยอยู่ทั่วไป ส่วนกลุ่มคนพื้นเมือง ล้านนานั้นพึ่งจะเข้ามาอาศัยอยู่ได้ประมาณ ๖๐๐ กว่าปี ที่ผ่านมานี้เอง โดยได้อพยพมาจากทางเหนือเข้ามาอยู่อาศัยตามบริเวณพื้นที่ราบลุ่ม ของแม่น้ำแหง หลังจากนั้นค่อยขยับขยายอาณาบริเวณ ไปอยู่ตามพื้นที่ราบต่างๆ ที่อุดมสมบูรณ์จนเกิดเป็นบ้านเมืองแพร่หลายขึ้นภายหลังมีถึง ๕ เมือง ได้แก่ เมืองงั่ว เมืองหิน เมืองหล่ม เมืองลี้ (ส่วนเมืองกีบนั้น  ไม่ทราบแน่ชัดว่าอยู่ตรงไหน)  เมืองทั้งหมดนี้ขึ้นต่อเมืองน่าน

         หลังจากที่เมืองน่านขึ้นตรงต่อกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว  ก็ได้บริหารบ้านเมืองตามนโยบายของราชการทุกประการ จนถึงในสมัย รัชกาล ที่ ๕ ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์พริเดช  เมืองหล่มกับเมืองงั่วได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองศรีษะเกษ และได้รวมกับเมืองหิน  เมืองลี้ตั้งขึ้นเป็นแขวง เรียกชื่อว่าแขวงน้ำแหง เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้เปลี่ยนระบบการรวมแขวงมาตั้งเป็นบริเวณ โดยได้รวมแขวงน่านใต้ อันมีเมืองแฝก เมืองจริม กับเมืองท่าปลา และแขวงน้ำแหง รวมกันเป็นบริเวณน่านใต้ ตั้งที่ว่าการบริเวณอยู่ที่เมืองศรีษะเกษ ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๕๐  ยกเลิกบริเวณน่านใต้   แล้วจัดแบ่งท้องที่ออกเป็น   ๒ แขวง    คือแขวงศรีสะเกษ กับแขวงท่าปลา   ต่อมาได้ยกแขวงศรีษะเกษเป็นอำเภอศรีษะเกษ  ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอนาน้อย  เมื่อ พ.ศ.๒๕๖๐  จนถึง พ.ศ.๒๕๒๑ ทางราชการเห็นว่า อำเภอนาน้อยมีพื้นที่กว้างขวาง ยากแก่การติดต่อทางราชการ  จึงแยกเมืองหิน กับเมืองลี อันมีตำบลบ่อแก้ว ตำบลนาทะนุง  ตำบลเมืองลี  ออกจากอำเภอนาน้อย  ตั้งเป็นกิ่งอำเภอนาหมื่น เมื่อวันที่ ๙  ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๕  ต่อมากิ่งอำเภอนาหมื่นได้ขอตั้งตำบลเพิ่มอีก๑  ตำบลคือตำบลปิงหลวง  โดยแยกออกจากตำบลเมืองลี  หลังจากนั้น กิ่งอำเภอนาหมื่น ได้รับการยกฐานะ เป็นอำเภอเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๗

ข้อมูลทั่วไป

๑.   สภาพทั่วไป    
ลักษณะที่ตั้ง

ที่ว่าการอำเภอนาหมื่น  ตั้งอยู่หมู่ที่  ๑   บ้านหลักหมื่น   ถนนเจ้าฟ้า   ตำบลนาทะนุง  อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดน่าน  ห่างจากจังหวัดน่านระยะทาง   ๘๐  กิโลเมตร  ห่างจากกรุงเทพมหานคร   ๗๕๐  กิโลเมตร   เนื้อที่ี่รวมทั้งสิ้น   ๙๖๐  ตารางกิโลเมตร  

หรือ  ๕๖๖.๒๕๐  ไร่

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลสถาน   อำเภอนาน้อย   จังหวัดน่าน
  • ทิศใต้  ติดต่อกับอำเภอท่าปา   จังหวัดอุตรดิตถ์
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอนาน้อย  จังหวัดน่านและ อำเภอบ้านโคก  จังหวัดอุตรดิตถ์
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองน่านและอำเภอร้องกวาง  จังหวัดแพร่

 ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพพื้นที่เป็นป่าเขาสูงชัน  มีภูเขาและป่าไม้กระจัดกระจายทั่วไปมีที่ราบน้อย  ประมาณร้อยละ  ๔.๐๙  ของพื้นที่ทั้งหมด  คิดเป็นเนื้อที่  ๓๗  ตารางกิโลเมตร ( ๕๐๖,๗๕๘  ไร่ )

ภูมิอากาศ

ลักษณะทางภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม  มี  ๓  ฤดู  คือ

  • ฤดูร้อน    ระหว่างเดือน  กุมภาพันธ์  –  พฤษภาคม
  • ฤดูฝน       ระหว่างเดือน  มิถุนายน  –  สิงหาคม
  • ฤดูหนาว                 ระหว่างเดือน  กันยายน  –  มกราคม

การปกครอง

แบ่งเขตการปกครอง   ๔  ตำบล  ๔๘  หมู่บ้าน

มีองค์กรส่วนท้องถิ่น      ๔   แห่ง  คือ

๑. เทศบาลตำบลบ่อแก้ว

๒.  องค์การบริหารส่วนตำบลนาทะนุง

๓.  องค์การบริหารส่วนตำบลปิงหลวง

๔.  องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองลี

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทรัพยากรดิน

เป็นลักษณะดินร่วนปนทรายมีเศษหินปะปนมากหน้าดินตื้นเนื่องจากพื้นที่ทั่วไปมีสภาพเป็นภูเขาเกิดจากการ  ชะล้างพังทะลายชองดิน  นอกจากนี้ยังมีการบุกรุกทำลายป่าเพื่อการเกษตรและการลักลอบตัดไม้เพื่อจำหน่าย

ทรัพยากรน้ำ

            โดยทั่วไปแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอด   แม่น้ำสายใหญ่  ๑   สาย  และลำคลอง  ๔  สายหลัก  มีน้ำไหลตลอด   ๓   ฤดูกาล   ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เท่าที่ควร   เพราะอยู่ไกลจากแหล่งชุมชนและพื้นที่การ

เกษตร  ประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดึงน้ำจากแม่น้ำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร

ทรัพยากรป่าไม้

อำเภอนาหมื่นมีพื้นที่ป่าไม้ที่สำคัญ   ได้แก่

            –  ป่าสงวนแห่งชาติห้วยสาลี –  ห้วยงวง   พื้นที่   ๑๓๕   กิโลเมตร

            –  ป่าสงวนแห่งชาติฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้   พื้นที่   ๗๗๕   กิโลเมตร

            เนื้อที่ป่าทั้งหมด   ๙๑๐   ตารางกิโลเมตร   สภาพป่าโดยทั่วไปมีความอุดมสมบูรณ์   ประมาณ  ๘๐ %  ของพื้นที่ยังคงสภาพความเป็นป่า   และประสบปัญหาการลักลอบตัดไม้เพื่อการจำหน่ายจากผู้มีอิทธิพลจากจังหวัดใกล้เคียง  ร่วมมือกับบุคคลในพื้นที่รวมทั้งราษฎรว่างงานจากกรุงเทพมหานคร  เข้าไปบุกรุกทำกินในที่ป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มขึ้นเพื่อทำไร่การเกษตรโดยเฉพาะปลูกข้าวโพดซึ่งมีราคารับซื้อค่อนข้างสูง

ข้อมูลจาก สภาวัฒนธรรอำเภอนาหมื่น

แชร์