ข้อมูลทั่วไป

ก่อนจะเล่าเรื่องเมืองพงษ์ต้องเล่าเรื่องวัวโพงก่อน
ตามที่คนเฒ่าคนแก่ขานสืบต่อกันมาหลายช่วงอายุคน นับว่าได้หลายร้อยปีผ่านมาแล้ว ท่านเล่าว่า ในช่วงหนึ่งสมัยนั้นมีวัวป่าตัวหนึ่งดุร้ายอาละวาดไปทุกหนทุกแห่ง ไม่ได้กินแต่หญ้า พบคนกินคนพบสัตว์กินสัตว์ ชาวบ้านชาวเมืองสมัยนั้นเห็นลักษณะของวัวป่าตัวดังกล่าวเป็นเช่นนั้นจึงเรียกกันว่า วัวโพง ถ้าเทียบกับคนก็คือคนที่เป็น ผีโพง ผีกระสือ ต้นทางของวัวป่าตัวดังกล่าวมาจากป่าในเขตเมืองอุตรดิตถ์ ดั้นด้นผ่านป่าภูเขา ลำห้วยมาถึงเมืองของเรา ในที่สุดก็มาตายที่เมืองของเรานี้

 เมืองของเรานี้สมัยก่อนที่วัวป่าดังกล่าวยังไม่เข้ามารบกวนแล้วก็ตายอยู่พื้นที่เมืองของเรา เมืองของเรานี้ จะมีชื่อว่าเมืองอะไรไม่ทราบ แต่เมื่อวัวป่าตัวดังกล่าวที่กลายเป็นวัวโพง เข้ามารบกวนกินสัตว์ กินคนถึงวาระสุดท้ายก็ตายอยู่พื้นที่เมืองของเรา ชาวบ้านชาวเมืองของเราสมัยนั้นจึงตั้งชื่อเมืองของเราว่า เมืองโพง เมื่ออยู่มานานหลายปี หลายสมัยผ่านไป

จึงเปลี่ยนชื่อเมืองโพงว่า เมืองพงษ์ มาจนถึงปัจจุบันนี้ นับว่าชื่อชื่อเมืองของเราได้มาจากวัวป่าตัวดังกล่าวที่กลายเป็นวัวโพง ต้นทางถึงปลายทางของวัวป่าที่กลายเป็นวัวโพง
ออกมาจากเขตเมืองอุตรดิตถ์ ดั้นด้นผ่านป่าภูเขาลำห้วยเป็นลำดับมานอนที่ เด่นชัย จากนั้นมาอาศัยอยู่ที่ ร้องกวาง จากที่นั้นมาอาศัยอยู่ ป่าลำห้วยน้ำขุ่น(อุ่น) จากที่นั้นมานอนอยู่ทีกองฟาง(เฟือง)ที่นั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านดอนเฟือง จากที่นั้นได้ข้ามแม่น้ำน่านไปอยู่ที่ ห้วยหลับมืน ที่นั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านห้วยหลับมืน จากที่นั้นมาอาศัยอยู่ที่ ร้องตอง ตามที่คนเฒ่าคนแก่เล่าว่า มาถ่ายอุจาระลงที่นั้นเป็นทองคำ ที่นั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านรองตอง เมื่อภายหลังชาวบ้านรู้เรื่องจึงแตกตื่นกันไปขุดหาทองคำ จากที่นั้นได้ขึ้นไปอยู่ที่ร้องแหจากที่นั้นกระโดดลง ลำน้ำต้วน จากที่นั้นมาอาศัยอยู่ในเขตเมืองจัง จากที่นั้นได้ลงไป ลำน้ำน่าน ไปนอนอยู่ หาด คำว่า “หาด” หมายถึงกลางลำน้ำที่ตื้น คนเดินข้ามได้โดยไม่ต้องใช้เรือแพ เรียกว่า หาด ชาวบ้านไปเห็นเข้าไม่นึกว่าวัวโพง นึกว่าเป็นก้อนหินใหญ่ เมื่อพากันไปดูเห็นชัดเจนแล้วว่ามีขน จึงรู้ว่าเป็นวัวโพงตัวดังกล่าว เมื่อเห็นเป็นเช่นนั้น ต่างคนก็ต่างยิงแล้วพากันวิ่งหนี หาดแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า หาดผาขน หาดอีกแห่งชาวบ้านได้พากันไปตัดเอากิ่งไม้ที่มีใบติด ช่วยกันเอากิ่งไม้ลากหรือกวาดเส้นทางและบริเวณใกล้หาดนั้นเพื่อลบรอยเท้า แต่แล้ววัวโพงตัวนั้นก็ไม่ได้เดินไปบริเวณนั้นหรือทางที่กวาดไว้ หาดแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า หาดเค็ด จากที่นั้นวัวโพงตัวนั้นได้ไปขึ้นฝั่งทางทิศตะวันตกทางตรงหน้าที่นั้นมีก้อนหินใหญ่อยู่ขวาง หน้าที่นั้นจึงได้ชื่อว่า ผาขวาง จากที่นั้นได้มานอนอยู่ที่ดอนริมน้ำใกล้กับสบ หรือปากน้ำมวบ ไหลไปจรดกับลำน้ำยาว ที่นั้นจึงได้ชื่อว่า หมู่บ้านสบยาง จากนั้นวัวโพงตัวนั้นได้เข้าไปอาศัยอยู่ในลำห้วยแห่งหนึ่ง ชาวบ้านและหมอพรานปืนรู้ก็ได้พากันไปตามล่า
ได้หมอบคลานมือถือปืน ลากแนบข้างคลุกคลานขึ้นไปตามลำห้วยนั้น ลำห้วยแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่าลำห้วยลากปืน (เขตพื้นที่บ้านน่านมั่นคงปัจจุบัน)

 จากที่นั้นวัวโพงตัวดังกล่าวซึ่งถูกยิงมานานแล้วก็เดินกระหย่งเดิน กระโดดสามขาออกจากป่าห้วยลากปืนมาผ่านทุ่งนาแห่งหนึ่งแล้วก็นอนพักอยู่หนองน้ำทุ่งนาแห่งนั้น ทุ่งนาและหนองแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า ทุ่งนาและหนองทุ่งนาสามขา จากที่นั้นวัวโพงได้กลับเข้าไปในป่าไปอาศัยอยู่ที่ โป่งตีนตั่ง และได้เข้าไปอาศัยหลบซ่อนอยู่ตามลำห้วยแห่งหนึ่ง ลำห้วยแห่งนั้นได้ชื่อว่า ลำห้วยลี่ จากที่นั้นขึ้นไปดอยปุกมหินผา จากนั้นไปอาศัยตามลำห้วยมืด คำว่าห้วยมืด ได้แก่ชาวบ้านและหมอพรานปืนที่รู้ว่าวัวโพงอยู่บริเวณป่าแห่งนั้น จึงได้พร้อมในเตรียมเสบียงอาหารอาวุธปืนออกจากบ้านไปแต่กลางคืนดึกดื่น ไปซุ่มดักอยู่ที่กิ่วก้อม คำว่า กิ่ว ได้แก่ภูเขา 2 ลูกมาจรดกัน ที่นั้นต้องเป็นที่ต่ำจึงเรียกว่ากิ่ว แต่แล้ววัวโพงตัวนั้นได้เดินผ่านกิ่วก้อมนั้นไปก่อนแล้ว กิ่วแห่งนั้นก็ได้ชื่อว่า กิ้ววัวโพง จากบริเวณที่นั้นวัวโพงได้ไปอาศัยตามลำห้วยเทิ้ม จากนั้นวัวโพงได้ขึ้นไปอาศัยอยู่ป่าขุนเขาลำน้ำสายหนึ่งบริเวณ บวกน่าม ลำน้ำดังกล่าว เมื่อวัวโพงตายไปแล้วชาวบ้านชาวเมืองสมัยนั้นตั้งชื่อว่า ลำน้ำโพง อยู่นานผ่านหลายปีหลายสมัยแล้วเปลี่ยนคำว่า ลำน้ำโพง เป็นลำน้ำพงษ์จนถึงปัจจุบันนี้ จากที่นั้นวัวโพงไปอาศัยอยู่ป่าลำน้ำตวายแล้วลงไปดูดกินน้ำที่ โปร่งโปด แล้วก็ล่องไปเลยหายเงียบไปไม่เห็นรอยตีน (หมอโหรา) ทำนายทายดูว่าวัวโพงอยู่ตามป่าลำห้วยแฮ้ว จากที่นั้นไปนอนอืดคางปวดบาดแผลอยู่หนองอึ่ง จากที่นั้นลงไปนอนมูบ (นอนคว่ำ) อยู่ตามป่าลำน้ำสายนั้นจึงได้ชื่อว่า ลำน้ำมูบ อยู่นานหลายปีหลายสมัยผ่านมาแล้ว เปลี่ยนคำว่ามูบเป็นมวบ มาจนถึงปัจจุบันนี้

  จากที่นั้น วัวโพงขึ้นไปป่าตามลำห้วยแห่งหนึ่ง ไปทำลายเหยียบคั้งดักเอาปลาที่ชาวบ้านทำไว้กลางลำห้วยนั้น ลำห้วยนั้นได้ชื่อว่า ห้วยตะโล้ จากที่นั้นวัวโพงไปนอน

อยู่ลำห้วยมวกกลาง จากที่นั้นวัวโพงไปนอนอยู่ที่หนองแห่งหนึ่งอยู่สบหนองหรือปากลำห้วยแห่งหนึ่ง หมู่ชาวบ้านและหมอพรานปืนไปเห็นเข้านึกว่าวัวโพงตัวนั้นตายแล้ว จึงได้ช่วยกันทำซุ้มตั้งปางอยู่ในป่าติดกับลำห้วยดังกล่าว แล้วก็ได้ช่วยกันไปหาเอาไม่มาทำฟืนรวมกันไว้และฮ้านข่าสำหรับย่างวัวเนื้อวัวโพงตัวนั้น แต่แล้ววัวโพงตัวนั้นยังไม่ตาย ลำห้วยแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า ลำห้วยขาแล้ง จากนั้นวัวโพงได้เดินขึ้นไปบนภูเขาเดินไปตามสันภูเขาลำห้วยโป่ง ลำน้ำห้วยโป่งแล้วลงไปที่ลำห้วยปู่แผ้ว แล้วออกจากป่าเดินผ่านทุ่งนาบ้านก้าย แล้วก็ไปเข้าป่าขึ้นไปตามร้องแหย่งแล้วได้ไปนอนอยู่หนองแห่งหนึ่ง เลือดไหลออกทางบาดแผลที่ถูกยิง ไหลออกมาจนเลอเลิ่ง หนองแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า หนองผะเลอ (หนองป่าเลอ) (อยู่บริเวณบ้านดอนกลาง หมู่ที่ 8 ต.พงษ์) จากนั้นไปนอนอยู่หนองแห่งหนึ่งอีก วัวโพงตัวนั้นทนพิษบาดแผลไม่ไหวเลยตายอยู่ที่หนองแห่งนั้น จนขึ้นอืดเน่าเหม็นส่งกลิ่นไปทั่ว ชาวบ้านจึงไปเห็น หนองแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า หนองเหม็น ถึงปัจจุบันหนองเหม็นที่วัวป่าซึ่งกลายเป็นวัวโพงนั้นไปตายอยู่ที่นั้น อยู่ทางทิศเหนือของโรงพยาบาลสันติสุขปัจจุบันนี้

เล่าเรื่องเมืองพงษ์ (เดิมชื่อเมืองโพง ซึ่งคือตำบลดู่พงษ์ปัจจุบัน)
เมืองพงษ์ เดิมชื่อเมืองพงษ์ ตามคำเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่กันมาหลายช่วงอายุคน คำว่าโพงได้ชื่อมาจากวัวป่ตัวหนึ่งดุร้าย ต้นทางออกจากป่าในเขตเมืองอุตรดิตถ์ อาละวาดขึ้นมาทางเหนือดั้นด้นผ่านป่าภูเขา ลำห้วย จนถึงเมืองของเราเป็นแห่งสุดท้าย ปลายทางถึงวาระสุดท้ายก็ตายอยู่ที่เมืองของเรานี้ก็คืออำเภอ สันติสุขในปัจจุบัน รายละเอียดแนวเส้นทางของวัวป่า ตั้งแต่ออกจากป่าเมืองอุตรดิตถ์ถึงเมืองพงษ์ได้เขียนไว้ในเรื่องวัวโพงอย่างละเอียดแล้ว วัวป่าที่กลายเป็นวัวโพงตัวดังกล่าวได้มาอาศัย
อยู่ป่าเขาลำห้วยหลายแห่งและอาศัยอยู่ป่าเขาลำห้วยหลายแห่งและได้อาศัยอยู่ป่าขุนเขาลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้านได้แก่หมู่บ้านศรีนาม่าน บ้านพงษ์ บ้านหัวนา บ้านป่าแดด และบ้านดู่พงษ์ ไหลลงสู่ลำน้ำมวบสมัยก่อนเรียกว่า ลำน้ำโพง เมื่ออยู่นานมาหลายปีหลายสมัย เปลี่ยนคำว่า โพง คือผีชนิดหนึ่งกล่าวกันว่าชอบกินเนื้อสดๆ คาวๆ ดังนั้น วัวโพงจึงหมายถึง วัวที่กินเนื้อเป็นอาหารไม่กินเฉพาะแต่หญ้าวัวโพง ดังกล่าวอาละวาดสร้างความเดือดร้อนหวาดหวั่นแก่ชาวบ้าน จากความดุร้ายของวัวโพงชาวบ้านชาวเมืองสมัยนั้น
จึงปรึกษาหารือกันหาวิธีป้องกัน และกำจัดมันหลายวิธีการ การป้องกันในหมู่บ้านต้องขุดหลุดหลบภัยเมื่อรู้ว่าวัวโพงเข้าในเขตหมู่บ้านทุกครอบครัวก็พากันลงอยู่ในหลุมหลบภัย วิธีกำจัดจึงได้พร้อมใจกันขุดดินที่ป่ากลาง ขุดเป็นร่องเหมือนร่องเหมืองเรียงกันแล้วเอาไม้ไผ่มาจักสานเป็นตาราง เอามาวางบนปากร่องเหมืองแล้วเอาเศษไม้ใบไม้ปูลงบนตาราง เดินกลบทำให้เรียบเหมือนหน้าดินธรรมชาติและมีคูคันกล้ายเกาะอยู่ตรงกลาง ตามความมุ่งหมายที่หมู่บ้านทำอย่างนี้เพื่อหวังว่า ถ้าวัวโพงเดินผ่านตรงนั้นวัวโพงต้องหล่น ลงขาวัวต้องสอดลงตามตารางนั้นทุกขา จะกระโดดวิ่งไปไม่ได้จะติดอยู่ในนั้นเพื่อสะดวกแก่การฆ่า เช่น ยิง แทง ฟัน แต่แล้ววัวตัวดังกล่าวไม่ผ่านมาตรงนั้น ร่องเหมืองดังกล่าวอยู่ระหว่างตรงกลางหมู่บ้านต้นผึ้ง และหนองป่าเลอ และชาวบ้านชาวเมืองก็ได้ปางทำซุ้มเป็นที่อยู่ของพรานปืน เพื่อดักยิงวัวโพง มีการตั้งปางซุ้มไว้ในป่า
บนภูเขาลำห้วยหลายแห่งแต่แล้ววัวโพงไม่ไปทางที่หมอพรานดักอยู่สักแห่งเลย หัวหน้าหมอพรานปืนสมัยนั้นเล่าว่ามี ๑.นายคำลือ ๒.นายคำหล้า วัวโพงตัวที่กล่าวมาถึงวาระสุดท้าย
ก็มาตายอยู่ที่หนองแห่งหนึ่ง เพราะความเจ็บปวดทนพิษบาดแผลที่ถูกยิงไม่ไหว หนองที่วัวโพงตายนั้นได้ชื่อว่า หนองเหม็น มีชื่อมาจนถึงปัจจุบันนี้หนองเหม็น
ดังกล่าวอยู่ทางทิศเหนือของโรงพยาบาลสันติสุขไปไม่ไกลนักเมื่อถึงวาระสุดท้ายของวัวโพงตาแล้วชาวบ้านชาวเมืองสมัยนั้นจึงได้ตั้งชื่อเมืองของเรานี้ว่า เมืองโพง เมื่ออยู่นานหลายปีหลายสมัยผ่านไปได้เปลี่ยนคำว่า โพง เป็นพงษ์ จนปัจจุบันนี้

  ประชากรเมืองพงษ์ แบ่งตามภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันในปัจจุบันนี้ แบ่งได้  ๓ เผ่าคือ คนในพื้นเมือง ซึ่งใช้คำเมือง คนลาวใช้ภาษาลาวของเมืองหลวงพระบาง คนลื้อ ใช้ภาษาลื้อ ไทยใหญ่ในสิบสองปันนา ตามคำเล่าขานเกี่ยวกับเชื้อชาติของคนเมืองพงษ์นี้ว่า เริ่มตั้งแต่ ชาวบ้านดู่พงษ์ได้อพยพมาจากเมืองหลวงพระบางประเทศลาวในสมัยนั้น และมาตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเล็กๆขึ้นก่อนแล้ว ต่อมาได้สร้างวัด เมื่อมีหมู่บ้านวัดก็เกิดขึ้น เมื่อเจ้าผู้ครองเมืองน่านสมัยนั้น ได้ทราบข่าวว่ามีเผ่าชนได้อพยพมาจาก

เมืองลาวมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตไทยและเขตเมืองน่าน ท่านทราบแล้วท่านได้รับไว้เป็นลูกบ้านลูกเมืองของทุกท่านพระองค์ท่านพระองค์ยังได้โปรดตั้งชื่อให้ว่า เป็นชาวเมืองไหล คือ เป็นคนที่มีความอดอยากหนีร้อนมาพึ่งเย็น พอมีที่พึ่งที่ไหนก็อาศัยอยู่ที่นั่น เปรียบเสมือนดอกบัวหลุดจากกอ ไหลไปตามสายน้ำ เมื่อติดอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่นั้น

   ต่อจากนั้นพระองค์ยังมีความห่วงใยสงสาร ท่านได้ส่งช้างหลวงฝูงหนึ่งให้ชาวดู่พงษ์ ดูแลรักษาไว้ใช้แรงงานและกินค่าแรงงานของช้าง ชาวบ้านสมัยนั้นจึงเล่ากันมาว่า

เลี้ยงช้างหลวง ตามที่ท่านผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ชาวดู่พงษ์ ดอนดู่พงษ์ สมัยนั้นได้สร้างวัดขึ้น ๑ แห่ง ได้แก่วัดดู่พงษ์ บางท่านเล่าว่า การสร้างวัดดู่พงษ์ เจ้าผู้ครองเมืองน่าน
สมัยนั้นคงร่วมด้วย วัดดู่พงษ์เป็นวัดแห่งแรกของเมืองพงษ์ แต่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.ไหนไม่ปรากฏหลักฐาน

  เมืองพงษ์นี้ ก่อนที่ชาวบ้านดู่พงษ์ ยังไม่อพยพมาจากเมืองหลวงพระบางประเทศลาว มาตั้งถิ่นฐานอยู่นั้น มีแต่ชาวพม่า เป็นส่วนมากที่อยู่ในเมืองนี้ เท่าที่มาสังเกตดูได้ว่า ปัจจุบันนี้ยังพบยังเห็นบริเวณบางที่บางแห่งเป็นสถาพวัดร้างของพม่าหลายที่หลายแห่งทั้งเมืองในเมืองและในป่าลึก บางแห่งยังเห็นร่องรอย เช่นโบสถ์ แท่นพระ บางแห่งยังเห็นเศษก้อนอิฐ ที่ยังไม่ฝังลึกลงในพื้นดิน บางแห่งชาวบ้านบางคนขุดพบเศษ ภาชนะที่แตกเป็นชิ้นและเบ้ายาสูบของพม่า ที่ทำด้วยเครื่องปั้นดินเผา และแกะสลักสวยงาม สิ่งเหล่านี้ทำให้เชื่อว่ามีชาวพม่า อยู่อาศัยในเมืองนี้มาก่อนเป็นส่วนมาก ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ในช่วงสมัยนั้น ชาวพม่าได้วางแผนพยายามยึดครองเมืองน่าน

มีการท้าทายแข่งขันในด้านฝีมือ ความสามารถเป็นต้นกับเจ้าผู้ครองเมืองน่าน จนเกิดมีการทำศึกรบราฆ่าฟันเป็นศึกใหญ่กันขึ้น ปรากฏว่า ฝ่ายเจ้าผู้ครองเมืองน่านเป็นฝ่ายชนะ จึงขับไล่ชาวพม่าออกจากเมืองไปตั้งแต่นั้นมาถึงปัจจุบันนี้ จึงไม่เห็นชาวพม่า ม่าน เงี้ยว อยู่ในเมืองน่าน และตามบ้านหรืออำเภอรอบนอก

  กลับย้อนเล่าเรื่อง ประชากร ชาวบ้านดู่พงษ์สมัยนั้นมีเชื้อสายเผ่าพันธุ์ได้อพยพมาจากเมืองหลวงพระบางประเทศลาว มาตั้งฐานบ้านเรือนอยู่พื้นที่แห่งสุดท้ายได้แก่บ้านดู่พงษ์-บ้านดอนพงษ์ เมื่ออยู่มานานหลาบปีหลายสมัย ปัญหาเหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้นในหมู่บ้าน เช่นปีศาจออกอาละวาดทำให้ชาวบ้านเจ็บไข้ได้ป่วยสงบลงไป วัวป่าตัวดุร้ายกลายเป็นวัวโพง มาอาละวาดกินสัตว์กินคน วัวตัวดังกล่าวก็ตายสงบไป เสือโคร่งตัวหนึ่งดุร้ายออกอาละวาดกินคน เสือตัวดังกล่าวก็ตายสงบไป เมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างสงบไปหมดแล้ว ชาวบ้านบางครอบครัวก็แยกย้ายออกจากบ้านดู่พงษ์ไปทำไร่ข้าวอยู่เป็นประจำที่ห้วยกิ่งม่วง ห้วยเก๊าตู้ม ห้วยแฮ้ว ห้วยผึ้ง บางครอบครัวก็แยกย้ายไปอยู่ที่บ้านน้ำโซ้ง พวงพยม บ้านโป่งคำ ต้นผึ้ง เพราะฉะนั้นจึงมีสำเนียงพูดภาษาลาว เหมือนชาวบ้านดู่พงษ์-ดอนพงษ์ คำว่า ดู่ ได้ชื่อมาจากต้นประดู่ใหญ่อยู่ตรงกลางพื้นที่ ที่จะตั้งหมู่บ้านดู่พงษ์ ก่อนจะตั้งเป็นหมู่บ้านชาวบ้านได้ชวยกันตัดโค่นล้มต้นประดู่ใหญ่ดังกล่าวสร้างศาลเจ้าขึ้น ๑ หลัง สร้างตรงโคนตอไม้ประดู่ใหญ่ให้ตอไม้ประดู่อยู่ด้านล่างใต้ถุนศาลเจ้านั้น เป็นศาลเจ้าหลวงพ่อฟ้า มาจนปัจจุบัน (ศาลเจ้าพ่อฟ้า) ตั้งอยู่หมู่ ๒ ตำบลดู่พงษ์ คำว่าพงษ์ ได้ชื่อมาจากวัวป่าตัวดุร้ายกลายเป็นวัวโพง ที่มาจากป่าเขตเมืองอุตรดิตถ์

มาถึงเมืองของเราแล้วมาตายที่เมืองของเรา ชาวบ้านสมัยนั้นตั้งชื่อเมืองของเราว่า เมืองโพง ต่อมาเปลี่ยนคำว่าโพงป็นพงษ์ เพราะฉะนั้นเมืองนี้ก็มีชื่อว่าเมืองพงษ์ หมู่บ้านดู่ก็มีชื่อว่า บ้านดู่พงษ์ ตำบลก็มีชื่อว่าตำบลดู่พงษ์ ส่วนตำบลป่าแลวหลวง แบ่งแยกจากตำบลดู่พงษ์ไปตั้งเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอีก เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑
เมืองพงษ์มีองค์พระเจดีย์ประจำเมือง ๑ แห่ง อยู่ที่วัดพระธาตุป่าแดด หมู่ที่ ๑ ตำบลพงษ์ได้พบหลักฐานปีที่เริ่มก่อสร้าง คือพ่อหนานเติง ยานันท์ เป็นคนบ้านป่าแดด ท่านได้เขียนไว้ในสมุดข่อย (ปั๊ปสา)ของท่านมีเนื้อใจความว่า พระธาตุวัดป่าแดด เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ ลำน้ำห้วยที่มีชื่อ ห้วยลากปืนได้ชื่อมาจากเรื่อง
เกี่ยวกับวัวโพงตอนที่ชาวบ้าน หมอพรานปืนรู้ข่าวว่าวัวโพงอยู่บริเวณป่าลำห้วยแห่งนั้น ชาวบ้านและหมอพรานปืนได้ติดตามล่า ทุกคนหมอบคุกคลานมือข้างหนึ่งถือปืน
แนบกับข้างลากขึ้นไปตามลำห้วยนั้น เพราะเป็นป่าทึบช่องแคบ จึงได้ชื่อว่าลำห้วยลากปืน ลำห้วยดังกล่าวอยู่ระหว่างเขตติดต่อ ตำบลอวน กับตำบลป่าแลวหลวง
ทุ่งนา-หนองน้ำ ที่มีชื่อว่า ทุ่งสามขา-หนองสามขา ได้ชื่อเนื่องมาจากวัวโพง ตอนที่วัวโพงหนีออกจากห้วยลากปืนมาเดินกระหย่งกระเหย่ง กระโดดสามขา ผ่านทุ่งนาและนอนอยู่ที่หนองน้ำในทุ่งนาแห่งนั้น จึงได้ชื่อว่า ทุ่งนาสามขา-หนองสามขา ทุ่งนาและหนองน้ำดังกล่าวอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านอภัยคีรี-ดอนอาภัย
ลำน้ำสายหนึ่งที่มีชื่อว่า ลำน้ำมูบหรือมวบ ได้ชื่อมาจากเรื่องเกี่ยวกับวัวโพงออกจากหนองอึ่งแล้วลงไปนอนมูบ (นอนคว่ำ)อยู่กลางลำน้ำสายหนึ่ง ลำน้ำสายนั้นจึงได้ชื่อว่าลำน้ำมูบ ผ่านมานานหลายปี หลายสมัย จึงเปลี่ยนคำว่ามูบเป็นมวบ จนถึงปัจจุบันนี้

  ลำห้วยแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า ห้วยข่าแล้งได้ชื่อมาจากเรื่องเกี่ยวกับวัวโพงตอนที่ออกจากลำห้วยตะโล้มานอนอยู่หนองน้ำแห่งหนึ่งอยู่สบหรือปากลำห้วยสายนี้ ชาวบ้านและพรานปืน

ไปเห็นเข้านึกว่าวัวโพงตายแล้ว จึงได้ช่วยกันทำซุ้มตั้งปางอยู่ในป่าใกล้กับลำห้วยสายนั้น แล้วก็ได้ช่วยกันไปหาเอาไม้ฟืนมารวมกันไว้ แล้วก็ทำฮ้านข่าสำหรับย่างเนื้อวัวโพงนั้น แต่แล้ววัวโพงนั้นไม่ตาย ลำห้วยแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า ห้วยข่าแล้งอยู่ในป่าทางทิศใต้ของหมู่บ้านน้ำโซ้ง หนองน้ำที่มีชื่อว่า หนองผะเลอ(หนองป่าเลอ)ได้ชื่อมาจากเรื่องวัวโพง
ตอนที่วัวโพงออกจากร้องแหย่งแล้วมานอนอยู่ที่หนองน้ำแห่งหนึ่ง เลือดไหลออกมาทางบาดแผลที่ถูกยิงจำนวนมาจนเลอเลิ่งหนองน้ำแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า หนองผะเลอ(หนองป่าผะเลอ) หนองดังกล่าวนี้อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านดอนกลางติดกับถนนทางทิศตะวันตกสายแยกจากถนนสายสันติสุข-แม่จริม ที่ ๓ แยกบ้านศรีบุญเรือง บ้านพงษ์
หนองเหม็น ได้ชื่อมาจากเรื่องวัวโพง ตอนที่วัวโพงออกจากหนองป่าเลอแล้วมานอนอยู่ที่หนองน้ำแห่งหนึ่งแล้วทนความเจ็บปวดบาดแผลที่ถูกยิงมานานไม่ไหว เลยมาตายอยู่ที่หนองดังกล่าว จนขึ้นอืดส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว หนองน้ำแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า หนองเหม็น มาจนถึงปัจจุบันนี้ หนองน้ำแห่งนี้อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโรงพยาบาลสันติสุขไปไม่ไกล

เมืองพงษ์เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสันติสุข
ตำบลดู่พงษ์ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ
ตั้งแต่เดิมมาเมืองพงษ์มี 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลดู่พงษ์ ตำบลดู่พงษ์ทั้ง 2 ตำบล ขึ้นกับอำเภอเมืองน่านต่อมาเมื่อ พ.ศ.2512 เมืองบ่อว้า ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอแม่จริม ทางการได้โอนเอาตำบลพงษ์ไปขึ้นกับกิ่งอำเภอแม่จริม ส่วนตำบลดู่พงษ์ยังขึ้นกับอำเภอเมืองน่านเหมือนเดิม ต่อจากนั้นกิ่งอำเภอแม่จริมได้ยกฐานะเป็นอำเภอแม่จริม ตำบลดู่พงษ์ ก็ได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอสันติสุข และเป็นอำเภอสันติสุข จนถึงปัจจุบัน

สภาพทั่วไปของอำเภอสันติสุข
๑. ข้อมูลโดยทั่วไป
อำเภอสันติสุขอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเมืองน่านและได้มีปัญหาการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์รุนแรงประกอบกับสภาพพื้นที่เป็นป่าและภูเขา การปกครองได้ไม่ทั่วถึงจึงได้มีการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอสันติสุข เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๔ และได้ยกฐานะเป็นอำเภอสันติสุขเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๓๗

๒.อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอปัว
ทิศใต้ ติดต่อกับกิ่งอำเภอภูเพียง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบ่อเกลือ
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอท่าวังผา

๓.ด้านการปกครอง
อำเภอสันติสุข ประกอบด้วย ๓ ตำบล ได้แก่ ตำบลดู่พงษ์ , ตำบลพงษ์ , ตำบลป่าแลวหลวง มีองค์การบริหารส่วนตำบล ๓ แห่ง ไ้ด้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลดู่พงษ์ , องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ , องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแลวหลวง

๔.ด้านเศรษฐกิจและอาชีพ
ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ข้าวโพดเป็นส่วนใหญ่ มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพียงเล็กน้อย

๕.ด้านการท่องเที่ยว
โดยทั่วไปสภาพพื้นที่มีศักยภาพการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และในเชิงอนุรักษ์ แต่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่
๑.อ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่น บ้านน่านมั่นคง ม.๗ ตำบลป่าแลวหลวง ห่างจากอำเภอ ๖ กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดปีการคมนาคมไปมาสะดวก
เนื่องจากอยู่ห่างจากถนนใหญ่เพียง ๕๐๐ เมตร
๒.ทิวทัศน์ปางช้าง ห่างจากอำเภอสันติสุข ๑๗ กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับพักผ่อนสามารถค้างคืนได้ มีเรือนรับรองของหน่วยป่าไม้ประจำหมู่บ้าน

ประเพณีสำคัญ

มหกรรมขบวนแห่ครัวตาน หรือประเพณีแห่ครัวตาน
ความสำคัญ งานฉลองวัด เป็นวัฒนธรรมที่ชาวอำเภอสันติสุขได้ถือปฏิบัติกันมาช้านาน โดยองค์ไทยทาน(ครัวตาน) ที่ถูกทำขึ้นเป็นรูปปราสาท จำลองรูปทรงต่างๆ เพื่อนำไปถวายในงานเฉลิมฉลอง กุฏิสงฆ์ วิหารหรือโบสถ์ และศาสาการเปรียญ ตามวัดต่างๆ สืบเนื่องมาจากชาวอำเภอสันติสุขถือว่า “ ปราสาท” เป็นเรือสำหรับเจ้าเมือง หรือพระเจ้าแผ่นดินใช้เป็นที่อยู่อาศัยในอดีต ถือว่าเป็นของสูง ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมและภูมปัญญาท้องถิ่น จึงได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้
กิจกรรม
มีการแสดงของกลุ่มเยาวชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพ่อบ้าน
การจำหน่ายสินค้า OTOP การแข่งขันการจัดรูปขบวนแห่ครัวตานล้านนา และแข่งขันการจุดบ้องไฟดอก ของคณะศรัทธาวัดต่าง ๆ ขบวนแห่ครัวตานชิงรางวัล การส่งบอกไฟขึ้น บ้องไฟดอกประกวด มหรสพสมโภช เช่น รำวงย้อนยุค ม้านหมิน ชิงช้าสวรรค์ ฯลฯ โดยเริ่มงานตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๓๐ธันวาคม ๒๕๕๕-วันจันทร์ที่ ๓๑ ๒๕๕๕
พิธีเปิดในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๖

สถานที่จัดกิจกรรม วัดสบยาง ตำบลป่าแลวหลวง อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน
หน่วยงานที่รับผิดชอบ สภาวัฒนธรรมอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน , -สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน

แหล่งข้อมูล นางสาววชญากานต์ เพชรสุทธิ์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ประสานงานวัฒนธรรมอำเภอสันติสุข

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน : ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ๕๕๐๐๐
โทรศัพท์ ๐ ๕๔๗๑ ๑๖๕๐-๑ ต่อ ๑๓-๑๘ : โทรสาร ๐ ๕๔๗๑ ๑๖๕๐ email : nan-culture@hotmail.com

แชร์