คำขวัญอำเภอแม่จริม
ล่องแก่งน้ำว้า ชาใบหม่อมรสดี เขียวขจีธรรมชาติ ไหว้พระธาตุยอยหงส์

ประวัติความเป็นมาของอำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน
จากการให้ข้อมูลของนายเชิด พรมทะนา ราษฎรบ้านเลขที่ ๑๕ หมู่ ๑ ตำบลหนองแดง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ซึ่งได้สอบถามข้อมูลที่เล่าสืบต่อกันมาจากผู้สูงอายุ คือ แม่อุ้ยเฮือน อุตยะราช อาจารย์ไหว พรมสอน พ่ออุ้ยส่วน พรมทะนา พ่ออุ้ยคำล้วน กันชนะ พ่ออุ้ยสวน สุทร ทราบว่าเมืองบ่อว้า เริ่มมีการปกครองตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๐๕ โดยพญาพรหมบัณฑิต ได้รวมกลุ่มจัดตั้งหมู่บ้านขึ้น ชื่อว่าบ้านพรหม ปกครองบ้านเมืองมาจนถึง พ.ศ. ๑๑๐๗ ร่วมกับครูบาค่อม สร้างวัดพรหมขึ้น ส่วนพระธาตุยอยหงส์ ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๗๑๔ มีการซ่อมแซม โดยพญาอินต๊ะ บุญเรือง ร่วมกับครูบาหลวง จากนครเวียงอินทร์ ในพ.ศ. ๒๔๐๕ ส่วนโรงเรียนบ้านพรหม ได้สร้างขึ้น ในพ.ศ.๒๔๓๕ โดยพญาอินต๊ะ บุญเรือง และพญาใจวงศ์สา พ่อเมืองร้าน พ่อท้าวแสนปง พ่อเมืองเบี้ยว นอกจากนั้น พญาอินต๊ะ บุญเรือง ยังได้ร่วมกับ ประชาชนสร้างวัดหนองแดงขึ้น ที่บ้านหนองแดง มีการตั้งแสน (กำนัน) และต้าว (ผู้ใหญ่บ้าน ) ไปปกครองเมืองแทน เริ่มตั้งแต่แสนหลวง แสนโม่ง แสนรินทร์ แสนเขียน แสนหลวงใจ๋ แสนขันทะ แสนขุนสีพรม แสนจุงทะนะ และแสนอักขระ ได้จัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่วัดพรหม หลังจาก พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา แสนก็เปลี่ยนเป็นกำนัน มีกำนันรส สุทโธ เป็นกำนันตำบลหนองแดง เป็นคนแรก อีกกระแสหนึ่งจากการสอบถามผู้สูงอายุอีกหลายท่านสันนิษฐานว่า พื้นที่บริเวณบ่อว้า นี้เป็นชนเผ่าเงี้ยว หรือ ม่าน อาศัยอยู่ก่อนแล้ว จึงมีเจ้าเมืองเกิดขึ้น และปกครองบ้านเมือง ต่อมามีการอพยพของคนจากแหล่งต่างๆ เพื่อมาอาศัยที่ดินทำมาหากินตามลำน้ำ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และมีบ่อเกลือสินเธาว์ ซึ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตในสมัยนั้น

การอพยพของกลุ่มคนในอำเภอแม่จริม จำแนกได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
๑.ตำบลหนองแดง อพยพมาจาก อำเภอเมืองน่าน และอำเภอเวียงสา
๒.ตำบลหมอเมือง อพยพมาจากบ้านขึ่ง บ้านน้ำมวบ อำเภอเวียงสา และจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แขวงไชยบุรี ปัจจุบันอยู่บ้านห้วยบง และบ้านบวกแรด
๓.ตำบลน้ำปาย อพยพมาจาก อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ บ้านตาลชุม อำเภอเวียงสา และและจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แขวงไชยบุรี
๔.ตำบลน้ำพาง อพยพมาจาก กลุ่มชนพื้นเมืองเดิม และชาวเขาเผ่าม้ง และลั๊วะ
๕.ตำบลแม่จริม อพยพมาจาก เมืองเชียงใหม่ เป็นต้น

ประวัติการก่อตั้งอำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน
ท้องที่อำเภอแม่จริมเดิม มีชื่อว่า “บ่อว้า” (ขึ้นอยู่กับแขวงนครน่าน) ซึ่งหมายความรวมถึงทุกหมู่บ้านตำบล ในท้องที่นี้ มี ตำบลหมอเมือง ตำบลหนองแดง ตำบลพงษ์ ที่ได้ชื่อว่า “บ่อว้า” เพราะในท้องที่ดังกล่าวมีลำห้วยน้ำว้าไหลผ่าน โดยตลอดพื้นที่ และมีบ่อเกลือสินเธาว์อยู่ใกล้ ลำห้วยน้ำว้า ประชาชนมักจะเอาน้ำในบ่อมาต้มจนตกตะกอน เป็นเกลือสินเธาว์ (เกลือทราย) แล้วนำไปประกอบอาหาร และแลกเปลี่ยนสินค้าที่ต้องการ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นายชาญ เวชเจริญ ( ปลัดจังหวัดน่านในขณะนั้น ) ได้ออกตรวจเยี่ยมราษฎร ในท้องที่อำเภอเมืองน่าน โดยเฉพาะในตำบลหมอเมือง ตำบลหนองแดง ตำบลพงษ์ ได้พิจารณา เห็นว่าทั้งสามตำบลนี้เป็นตำบลที่อยู่ไกลท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกลจากตัวจังหวัดมาก ราษฎรยากจน และมีไข้ป่าชุกชุม มีอาณาเขตติดต่อกับราชอาณาจักรลาว มีเนื้อที่รวมประมาณ ๑,๓๒๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๘๒๘,๑๒๕ ไร่ เจ้าหน้าที่มีโอกาสตรวจเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์สุข ของราษฎรน้อยมาก เพราะทางคมนาคมไม่สะดวก ต้องเดินด้วยเท้าในฤดูแล้ง ส่วนในฤดูฝน เจ้าหน้าที่เข้าออกไม่ได้ เพราะมีลำน้ำห้วยหลายสายขวางกั้น ซึ่งอาจเป็นการเสียหายในด้านการปกครอง ประกอบกับหมู่บ้านดังกล่าวมีโอกาสที่จะเจริญในอนาคต เพราะราษฎรอาศัยอยู่กันหนาแน่นมาก และมีพื้นที่ทำมาหากินได้ โดยเฉพาะมีทรัพยากรทางธรรมชาติ และสินค้าพื้นเมือง พอที่จะยกระดับการครองชีพของราษฎร สามตำบลดังกล่าว นี้ให้ดียิ่งขึ้น จึงแนะนำประชุมชี้แจงร่วมกับทางอำเภอเมืองน่าน รายงานต่อกระทรวงมหาดไทย ขอจัดตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอแม่จริมขึ้น ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
กระทรวงมหาดไทย ประกาศตั้งกิ่งอำเภอแม่จริม เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๒ ณ บ้านนาคา หมู่4 ตำบลหนองแดง มีอาณาเขตการปกครอง ๓ ตำบล คือ ตำบลหนองแดง ตำบลหมอเมือง และตำบลพงษ์ เหตุที่เปลี่ยนชื่อจาก “บ่อว้า” เป็น “แม่จริม” เพราะสถานที่ที่ตั้งกิ่งอำเภอแม่จริมอยู่ริมแม่น้ำแม่จริม และแม่น้ำแม่จริมนี้เป็นแม่น้ำสายเดียวที่ราษฎรทุกตำบลได้ใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก และอุปโภค ดังเสมือนเป็นเส้นโลหิต ของกิ่งอำเภอที่ตั้งใหม่นี้ และแม่น้ำสายนี้ไหลลงสู้น้ำว้า และลงสู่แม่น้ำน่าน ซึ่งชาวบ้านถือกันว่าถ้าตั้งชื่อแล้วย่อมเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและความเจริญสืบไป
ต่อมา ได้รับการยกฐานะเป็น “ อำเภอแม่จริม” เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๒๐ และได้แบ่งเขตการปกครองใหม่ โดยแยกตำบลน้ำปาย และตำบลน้ำพางออกจากตำบลหมอเมือง และได้แยกตำบลแม่จริม ออกจากตำบลหนองแดง ส่วนตำบลพงษ์นั้น ได้กลับไปขึ้นในเขตปกครองของ กิ่งอำเภอสันติสุข ดังนั้นอำเภอแม่จริมจึงมีเขตการปกครอง 5 ตำบล คือ ตำบลแม่จริม ตำบลหนองแดง ตำบลหมอเมือง ตำบลน้ำปาย และตำบลน้ำพาง ตามพระราชกฤษฎีการและพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 31 ลงวันที่ 12 เมษายน 2520 โดยมีนายภักดี ชมภูมิ่ง ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “รักษาการในตำแหน่งนายอำเภอแม่จริม” ได้จัดงานเปิดป้ายอำเภอแม่จริมขึ้นในวันที่ ๒๖ – ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๒๑ ก่อนหน้านี้ผู้รักษาการในตำแหน่งนายอำเภอ ได้เตรียมงานพิธีเปิดป้ายไว้อย่างเรียบร้อย โดยจัดทำป้ายชื่ออำเภอขนาดมาตรฐานและ
นำไปถวายต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีศรีสังวาลย์ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๑ พระองค์เสด็จเปิดป้ายโรงเรียนที่พระราชทาน ชื่อว่า โรงเรียนมิตรมวลชน
๓ ตำบลหมอเมือง เพื่อให้พระองค์ท่านทรงเจิมป้ายที่ว่าการอำเภอแม่จริมไว้เป็นที่ระลึกแล้วนำป้ายประดิษฐ์ไว้ที่หน้ามุขที่ว่าการอำเภอตราบทุกวันนี้

การต่อสู้ป้องกันภัยคอมมิวนิสต์
อำเภอแม่จริมเป็นอำเภอชายแดน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและในปี ๒๕๑๔ พบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) เริ่มดำเนินการแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลไทยและต่างชาติ ทำให้อำเภอแม่จริมต้องประสบภัยจากลัทธิการก่อการร้าย อำเภอแม่จริมกลายเป็นดินแดนสีชมพูและได้เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
พ.ศ. ๒๕๑๘ หัวหน้าหน่วยคอมมิวนิสต์ ชื่อ นายปะริมัว และนายคำมีวัง พาสมัครพรรคพวกนำอาวุธเข้ามามอบตัวมอบอาวุธให้แก่ทางราชการ ขณะเดียวกันชาวเขาเผ่าม้งก็ได้อพยพมาจากชายแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แขวงเมืองไชยบุรี เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณบ้านน้ำปูน น้ำลาน น้ำแนะ มาปักหลักอาศัยอยู่ข้างถนนประมาณ ๗๐,๐๐๐ – ๘,๐๐๐ คน องค์การสหประชาชาติจึงได้จัดตั้งศูนย์อพยพขึ้นที่ศูนย์สบตวง อยู่ในพื้นที่ตำบลหนองแดง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ๔ กิโลเมตร อยู่บนดอยสบตวง ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ คอมมิวนิสต์กลุ่มหนึ่งได้เข้าโจมตีฐาน ตชด. บ้านน้ำปูน น้ำพาง มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือด มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน ประชาชนที่ช่วยสู้รบและเสียชีวิต ระหว่างการต่อสู้ ๒ คน ได้แก่ นายสนิท นันใจ และนายวิเชียร เขื่อนจักร นอกจากนั้นได้พาประชาชนและจับอาสาสมัครรักษาดินแดนจากฐานน้ำพาง ส่วนหนึ่งไปกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ในป่า ยุยงให้ร้ายการปฏิบัติงานของรัฐบาลและ
ข้าราชการเป็นเวลาครึ่งวันแล้วจึงปล่อยกลับมา หลังจากนั้นฝ่ายรัฐบาลจึงได้ต่อสู้ยึดพื้นที่คืนในสมัยนายภักดี ชมภูมิ่งเป็นนายอำเภอ
คอมมิวนิสต์ อีกกลุ่มหนึ่งได้โจมตีฐานอาสาสมัครรักษาดินแดนที่ประจำอยู่บ้านตอง ทหารไทยจากฐานบ้านแคว้ง พร้อมด้วยกำลังจากอำเภอแม่จริมโดยการนำของนายอำเภอ ภักดี ชมภูมิ่ง จะเข้าไปช่วยเหลือ ระหว่างการเดินทางถูกคอมมิวนิสต์ซุ่มโจมตีทหารที่ห้วยน้ำรินเสียชีวิต จำนวน 21 คน ปัจจุบันได้มีการสร้างศาลผี (ศาลา) ไว้เป็นอนุสรณ์ ตั้งอยู่ข้างถนน หมู่บ้านฝาย ตำบลแม่จริม

สภาพภูมิศาสตร์ ที่ตั้ง และอาณาเขตติดต่อ
อำเภอแม่จริม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดน่าน อยู่ห่างจากจังหวัดน่านประมาณ ๓๘ กิโลเมตร เส้นทางหลวง หมายเลข ๑๑๖๘ และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๗๐๖ กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ยประมาณ ๖๕๐ เมตร เป็นอำเภอที่อยู่ติดชายแดนประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสันติสุขและอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเวียงสา จังหวัดน่านและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศตะวันออก ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

แหล่งข้อมูล นางสาววริศรา บุญซื่อ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ประสานงานวัฒนธรรมอำเภอแม่จริม

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน : ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ๕๕๐๐๐
โทรศัพท์ ๐ ๕๔๗๑ ๑๖๕๐-๑ ต่อ ๑๓-๑๘ : โทรสาร ๐ ๕๔๗๑ ๑๖๕๐ email : nan-culture@hotmail.com

แชร์