ประวัติความเป็นมาของอำเภอบ่อเกลือ


อำเภอบ่อเกลือเดิมเรียกว่า เมืองบ่อ ซึ่งคงจะหมายถึงบ่อน้ำเกลือสินเธาว์ที่มีอยู่ในพื้นที่ซึ่งเดิมมีอยู่จำนวน ๙ บ่อ เมืองบ่อเดิมทีเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีความสำคัญมาตั้งแต่ในอดีตกาล ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามพงศาวดารเมืองน่านซึ่งพระเจ้าสุริยพงษผริตเดชได้แต่งรวบรวมขึ้นไว้

มีข้อความกล่าวถึงแหล่งผลิตเกลือที่สำคัญที่เป็นสาเหตุให้พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ยกทัพมายึดเมืองน่าน เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๓ ว่า
“เดิมทีเขตอำเภอบ่อเกลือเป็นป่าดงพงไพร ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ มีหนองน้ำ ซึ่งพวกสัตว์ต่าง ๆ ชอบมากินน้ำในหนองน้ำแห่งนี้เป็นประจำ และยังมีนายพรานผู้หนึ่งมาล่าสัตว์ และเห็นพวกเหล่าสัตว์ทั้งหลายมักจะกินน้ำที่นี่เป็นประจำ เมื่อลองชิมดูจึงรู้ว่ามีรสเค็ม ข่าวได้ล่วงรู้ไปถึงเจ้าหลวงภูคาและเจ้าหลวงบ่อ จึงได้มาดูบ่อน้ำเกลือ และต่างก็ต้องการครอบครอง จึงคิดหาวิธีการโดยทั้งสองพระองค์ขึ้นไปอยู่ที่ยอดดอยภูจั๋น เพื่อแข่งขันกันพุ่งสะเน้า (หอก) แสดงการครอบครองบ่อน้ำเกลือ เจ้าหลวงภูคาพุ่งหอกไปตกทางตะวันตกของลำน้ำมาง ตรงที่ตั้งหอนอกในปัจจุบัน เจ้าหลวงบ่อพุ่งหอกไปตกทางตะวันออกของลำน้ำมาง ตรงที่ตั้งหอเจ้าพ่อบ่อหลวงในปัจจุบัน ผู้คนที่พากันมาดูการแข่งขันพุ่งหอก ได้นำเอาก้อนหินมาก่อไว้เป็นที่สังเกต แล้วตั้งเป็นโรงหอทำพิธีระลึกตอบแทนเจ้าหลวงทั้งสององค์ทุกปี ภายหลังทั้งสองพระองค์คิดกันว่า จะนำคนที่ไหนมาอยู่ เมื่อปรึกษากันแล้ว เจ้าหลวงภูคาจึงไปทูลขอประชาชนที่อยู่เมืองเชียงแสนจากเจ้าเมืองเชียงรายมาหักร้างถางพงทำเกลืออยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบ่อหลวงในปัจจุบันนั่นเอง ดังนั้นชุมชนบริเวณนี้จึงได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ (ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เดิมทีนั้นบรรพบุรุษอยู่ที่ประเทศมองโกเลียและประเทศจีน หนี้ลี้ภัยมาทางแม่น้ำเหลืองเข้าสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทางประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไม่อนุญาตให้อาศัยอยู่ได้ จึงพากันข้ามแม่น้ำโขงมาอาศัยอยู่ที่เมืองเชียงแสน)”

ต่อมาเมื่อการปกครองของรัฐ เมืองบ่อจึงได้อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอปัว โดยแยกเป็น ๒ ตำบล คือตำบลบ่อเกลือเหนือและตำบลบ่อเกลือใต้ ซึ่งในระยะหลังมีราษฎรจากพื้นราบมาทำการค้าขายและตั้งรกรากอยู่เป็นจำนวนมากประกอบกับราษฎรในพื้นที่ห่างไกล จึงได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยแบ่งเขตการปกครองท้องที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยแยกตำบลบ่อเกลือเหนือและตำบลบ่อเกลือใต้เป็น กิ่งอำเภอบ่อเกลือ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์พ.ศ. ๒๕๓๑ และได้รับการยกฐานะเป็น อำเภอบ่อเกลือ เมื่อวันที่ ๗ กันยายนพ.ศ. ๒๕๓๘

อาณาเขตติดต่อ
อำเภอบ่อเกลือตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดน่าน ประมาณพิกัดเส้นรุ้งที่ ๑๙ องศา ๘ ลิปดา ๓๐ พิลิปดาตะวันออกและเส้นแวงที่ ๑๐๑ องศา ๑๐ ลิปดา
๐ พิลิปดาเหนือ มีเนื้อที่ปกครองประมาณ ๕๒๓,๗๘๑.๒๕ ไร่ หรือประมาณ ๘๓๘.๐๕ ตารางกิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่ร้อยละ ๗.๔๐ ของเนื้อที่จังหวัดน่านทั้งหมด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้
-ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
-ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงไชยะบุรี (ประเทศลาว)
-ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอแม่จริมและอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน
-ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอปัว จังหวัดน่าน

การคมนาคม
การคมนาคมการติดต่อระหว่างอำเภอ จังหวัด รวมทั้งการติดต่อภายในตำบลและหมู่บ้าน สามารถเดินทางติดต่อไปมาหาสู่กันได้สะดวก ยกเว้นบางหมู่บ้าน ในช่วงฤดูฝน จะเดินทางลำบาก โดยมีเส้นทางหลวงที่ใช้ในการเดินทาง คือ
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๘๑ (ปัว-บ่อเกลือ-เฉลิมพระเกียรติ)
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๒๕๖ (ปัว-บ่อเกลือ)

การแบ่งเขตการปกครอง
อำเภอบ่อเกลือแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น ๔ ตำบล ๓๙ หมู่บ้าน ได้แก่
๑. ตำบลบ่อเกลือเหนือ จำนวน ๑๑ หมู่บ้าน
๒. ตำบลบ่อเกลือใต้ จำนวน ๑๕ หมู่บ้าน
๓. ตำบลภูฟ้า จำนวน ๖ หมู่บ้าน
๔. ตำบลดงพญา จำนวน ๗ หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอบ่อเกลือประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๔ แห่ง ได้แก่
-องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อเกลือเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ่อเกลือเหนือทั้งตำบล
-องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อเกลือใต้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ่อเกลือใต้ทั้งตำบล
-องค์การบริหารส่วนตำบลภูฟ้า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลภูฟ้าทั้งตำบล
-องค์การบริหารส่วนตำบลดงพญา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดงพญาทั้งตำบล

สถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียนบ่อเกลือ (โรงเรียนประจำอำเภอบ่อเกลือ)

สถานที่ราชการที่สำคัญ
-ที่ว่าการอำเภอบ่อเกลือ
-โรงพยาบาลบ่อเกลือ
-สถานีตำรวจภูธรบ่อเกลือ

รวบรวมข้อมูล : ผู้ประสานงานวัฒนธรรมอำเภอบ่อเกลือ (ว่าที่ ร.ต.ต.องอาจ บุญตาม)

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน : ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ๕๕๐๐๐
โทรศัพท์ ๐ ๕๔๗๑ ๑๖๕๐-๑ ต่อ ๑๓-๑๘ : โทรสาร ๐ ๕๔๗๑ ๑๖๕๐ email : nan-culture@hotmail.com

แชร์