คำขวัญ
ถิ่นผู้กล้าพญาผานอง ท่องอุทยานภูคา
ทอผ้าไทลื้อ เลื่องลือเครื่องเงิน

ประวัติความเป็นมาอำเภอปัว
เริ่มปรากฏขึ้นราว พ.ศ.๑๘๒๕ ภายใต้การนำของ พญาภูคา เจ้าเมืองย่าง ศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง (เชื่อกันว่าคือบริเวณริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่าง ใกล้เทือกเขาดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา)

เพราะปรากฏร่องรอย ชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำ คันดิน กำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ ต่อมาพญาภูคา ได้ขยายอาณาเขตปกครองของตนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งราชบุตรบุญธรรม ๒ คน ไปสร้างเมืองใหม่ โดยขุนนุ่น ผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (เมืองหลวงพระบาง) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำของ (แม่น้ำโขง) และขุนฟองผู้น้องสร้างเมืองวรนคร(เมืองปัว) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ การที่ให้ชื่อว่าเมือง “วรนคร”
ก็เนื่องมาจาก พญาภูคา ได้เลือกชัยภูมิที่ดี เหมาะสมในการสร้างเมือง เสร็จแล้วจึงขนานนามว่าเมือง “วรนคร” ซึ่งหมายถึง เมืองดี นับว่าเป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ภูคา

เมื่อบ้านเมืองวรนครเริ่มมั่นคงเป็นปึกแผ่น เจ้าขุนฟองก็ได้เป็นพญาแล้วเสวยราชสมบัติในเมืองวรนคร ทรงมีพระโอรส ๑ พระองค์ ใส่ชื่อเบิกบายว่า “เจ้าเก้าเกื่อน” ต่อมาไม่นานักพญาขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองปัวแทน ด้านพญาภูคาครองเมืองย่างมานานและมีอายุมากขึ้น มีความประสงค์จะให้เจ้าเก้าเกื่อนผู้หลานมาครองภูคาหรือเมืองย่างแทน จึงให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญ แต่เจ้าเก้าเกื่อนไม่ค่อยเต็มใจนัก เจ้าเก้าเกื่อนเกรงใจปู่จึงยอมไปอยู่เมืองย่าง และมอบให้ชายาคือ นางพญาแม่ท้าวคำปิน ซึ่งทรงครรภ์อยู่คอยปกครองดูแลรักษาเมืองวรนคร (เมืองปัว) แทน เมื่อพญาภูคาถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเกื่อนจึงครองเมืองย่างแทน
ในช่วงที่เมืองวรนคร (เมืองปัว) ว่างจากผู้นำ เนื่องจากเจ้าเก้าเกื่อนไปครองเมืองย่างแทนปู่คือ พญาภูคา พญางำเมืองเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา จึงได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองบ้านเมืองปัว
ทั้งหมด นางพญาแม่เท้าคำปินพร้อมด้วยบุตรในครรภ์ ได้หลบหนีไปอยู่บ้านห้วยแร้ง จนคลอดได้บุตรชายท่ามกลางท้องไร่นั้น ชื่อว่า “เจ้าขุนใส” ปรากฏว่านายบ้านห้วยแร้งนั้น เป็นพ่อครัวพญาเก้าเกื่อนมาก่อน จึงรับนางพญาแม่ท้าวคำปินและกุมารไปเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ อายุได้ ๑๖ ปี ก็นำไปไหว้สาพญางำเมือง เมื่อพญางำเมืองเห็น ก็มีใจรักเอ็นดูรับเลี้ยงดูไว้ แลเติบใหญ่ได้เป็นขุนนาง รับใช้พญาคำเมืองจนเป็นที่โปรดปราน พญางำเมืองจึงสถาปนาให้เป็น เจ้าขุนใสยศ ครองเมือง เป็นเจ้าเมืองปราดภาย หลังมีกำลังพลมากขึ้นจึงยกทัพ
มาต่อสู้จนหลุดพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา แล้วกลับมาเป็นพญาเสวยเมือง วรนคร (เมืองปัว) และได้รับการสถาปนาเป็น “พญาผานอง” เมือง วรนคร จึงกลายชื่อมาเป็น เมืองปัว ซึ่งหันไปมีความสัมพันธ์กับกรุงสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ดังปรากฏชื่อเมืองปัวอยู่ในหลักศิลาจารึก หลักที่ ๑

พญาผานองเสวยเมืองปัวอยู่ได้ ๓๐ ปี มีโอรส ๖ คน คนแรกชื่อ เจ้าการเมือง คนสุดท้องชื่อ เจ้าใส พอพญาผานองถึงแก่พิราลัยไปแล้ว เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็อภิเษกให้เจ้าใสผู้น้องเสวยเมืองแทน เพราะเป็นผู้มีความรู้เฉลียวฉลาด แต่อยู่ได้ ๓ ปี ก็ถึงแก่พิราลัยไปอีก เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจึงเชิญ เจ้าการเมือง ขึ้นเสวยเมืองแทน

ในสมัยของพญาการเมือง (กรานเมือง) โอรสของพญาผานอง เมืองปัว ได้มีการขยายตัวมากขึ้น ตลอดจนมีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยอย่างใกล้ชิด พงศาวดารเมืองน่านกล่าวถึงพญาการเมืองว่า ได้รับเชิญจากเจ้าเมืองสุโขทัย (พระมหาธรรมราชาลิไท) ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย (วัดอัมพวนาราม) ขากลับเจ้าเมืองสุโขทัย ได้พระราชทานพระธาตุ ๗ องค์ พระพิมพ์ทองคำ ๒๐ องค์ พระพิมพ์เงิน ๒๐ องค์ ให้กับพญาการเมืองมาบูชา ณ เมืองปัวด้วย ครั้งนั้น พญาการเมือง ได้ปรึกษาพระมหาเถรธรรมบาล
และได้เลือกสถานที่ บรรจุพระบรมธาตุ จึงได้ก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่บนภูเพียงแช่แห้ง ด้วยความเชื่อว่าเป็นที่เคยบรรจุพระบรมธาตุมาแต่ปางก่อน ดอยภูเพียงแช่แห้งเป็นเนินไม่สูงนัก ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเตี๋ยนกับน้ำลิง ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำน่าน จึงได้ระดมผู้คนก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่เนินแล้วอัญเชิญพระบรมธาตุมาบรจุไว้ พร้อมทั้งได้อพยพผู้คนจากเมืองปัว ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง เรียกว่า “เวียงภูเพียงแช่แห้ง” เมือปี พ.ศ. ๑๙๐๒ โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางเมือง

อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอเชียงกลาง และอำเภอบ่อเกลือ
ทิศใต้ ติดกับ อำเภอสันติสุข
ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอบ่อเกลือ
ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอท่าวังผา

การคมนาคม
การคมนาคมการติดต่อระหว่างอำเภอ จังหวัด รวมทั้งการติดต่อภายในตำบลและหมู่บ้าน สามารถเดินทางติดต่อไปมาหาสู่กันได้สะดวก ยกเว้นเขตตำบลภูคา และตำบลสกาด ในช่วงฤดูฝน จะเดินทางลำบาก โดยมีเส้นทางหลวงที่ใช้ในการเดินทาง คือ
เส้นทางหลวงแผ่นดินสาย น่าน – ทุ่งช้าง หมายเลข ๑๐๘๐
เส้นทางหลวงแผ่นดินสาย ปัว – น้ำยาว หมายเลข ๑๐๘๑
เส้นทางหลวงแผ่นดินสาย ปัว – บ่อเกลือ หมายเลข ๑๒๕๖
เส้นทางหลวงแผ่นดินสายศิลาเพชร – ท่าวังผา หมายเลข ๑๑๗๐
เส้นทางหลวงแผ่นดินสายน้ำยาว – สันติสุข หมายเลข ๑๑๖๙
เส้นทางหลวงชนบทสายบ้านเสี้ยว – ท่าล้อ (รพช.)
เส้นทางหลวงชนบทสายทุ่งชัย – นาวงศ์ (รพช.)
เส้นทางหลวงชนบทสายบ้านส้าน – ดอนแก้ว (รพช.)

การแบ่งเขตการปกครอง

อำเภอปัวในปัจจุบันได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น  ๑๒  ตำบล  ๑๐๕  หมู่บ้าน 

ที่ตำบลจำนวนหมู่บ้าน
๑.ปัว(Pua)๘ หมู่บ้าน
๒.วรนคร(Woranakhon)๘ หมู่บ้าน
๓.แงง(Ngaeng)๗ หมู่บ้าน
๔.สถาน(Sathan)๑๓ หมู่บ้าน
๕.ศิลาแลง(Sila Laeng)๘ หมู่บ้าน
๖.ศิลาเพชร(Sila Phet)๑๐ หมู่บ้าน
๗.อวน(Uan)๑๑ หมู่บ้าน
๘.ไชยวัฒนา(Chai Watthana)๘ หมู่บ้าน
๙.เจดีย์ชัย(Chedi Chai)๙ หมู่บ้าน
๑๐.ภูคา(Phu Kha)๑๓ หมู่บ้าน
๑๑.สกาด(Sakat)๔ หมู่บ้าน
๑๒.ป่ากลาง(Pa Klang)๖ หมู่บ้าน

สถานศึกษา
-โรงเรียนมัธยมศึกษา
โรงเรียนปัว (โรงเรียนประจำอำเภอปัว)
โรงเรียนมัธยมป่ากลาง
โรงเรียนเมืองแงง
โรงเรียนศรัทธาศิลาเพชรรังสรรค์

-อาชีวศึกษา
วิทยาลัยการอาชีพปัว

ข้อมูลวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๖
ข้อมูล ผู้ประสานงานวัฒนธรรมอำเภอปัว

แชร์